อสังหาฯ กทม.-ปริมณฑล ความเชื่อมั่นดิ่ง 7 ไตรมาสติด ด้านรายย่อยส่อแววฟื้นตัว

21 ต.ค. 2567 | 23:00 น.

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ยังขาลง ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ทั้งด้านยอดขายและการลงทุน โดยเฉพาะบริษัทมหาชน ขณะที่รายกลาง-รายย่อย เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ไตรมาส 3 ปี 2567

พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) อยู่ที่ระดับ 45.1 ลดลง 4.6 จุด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 และลดลง 0.1 จุดจากไตรมาสก่อน โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0 ติดต่อกันเป็นเวลา 7 ไตรมาส สะท้อนถึงความไม่มั่นใจในสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ของผู้ประกอบการ

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นยังคงต่ำกว่าค่ากลาง มีปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ภาระหนี้สินของครัวเรือน และภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทและอัตราดอกเบี้ยที่ยังสูง

ยังคงส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับสภาพตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสในการขายและการลงทุนในอนาคต

ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ Listed และ Non-listed

เมื่อแยกตามผู้ประกอบการแต่ละประเภท ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่ม Listed Companies หรือบริษัทมหาชน ในไตรมาสนี้ลดลงอย่างชัดเจน โดยยอดขายลดลงมากที่สุด 15.8 จุด มาอยู่ที่ระดับ 43.8 จากระดับ 59.6 ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงสูง

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.1 และการเปิดโครงการใหม่ลดลงเช่นกัน มาอยู่ที่ระดับ 52.1 แต่ด้านต้นทุนการประกอบการผกผัน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 39.6 สะท้อนว่าผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แม้ว่าภาวะตลาดจะยังไม่เอื้ออำนวย

ในทางกลับกัน กลุ่ม Non-listed Companies หรือผู้ประกอบการรายกลาง-รายย่อย กลับแสดงสัญญาณฟื้นตัวเล็กน้อย โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันเพิ่มขึ้นจาก 34.6 ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ระดับ 41.0 โดยความเชื่อมั่นในด้านการเปิดโครงการใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 48.6 จากระดับ 36.3 ในไตรมาสก่อน

ขณะที่ความเชื่อมั่นในด้านผลประกอบการและยอดขายก็ฟื้นตัวเช่นกัน แม้ว่ายังคงต่ำกว่าค่ากลาง 50.0 ซึ่งบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวที่ยังไม่เต็มที่ แต่ทิศทางดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ที่ 51.6 ซึ่งแสดงถึงความคาดหวังของผู้ประกอบการต่อสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ที่อาจจะดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหน้า

โดยเฉพาะด้านยอดขายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 57.8 ตามการคาดการณ์ของตลาด ทั้งนี้ กลุ่ม Listed Companies ยังคงมีมุมมองที่ลดลงในเกือบทุกด้าน ขณะที่กลุ่ม Non-listed Companies กลับมีความคาดหวังเชิงบวกมากขึ้นจากยอดขายและผลประกอบการที่มีแนวโน้มปรับตัวดี