กลับมาพูดถึงเป็นวงกว้างอีกครั้งเมื่อ กรมที่ดิน สั่งไม่เพิกถอนโฉนด ที่ดินเขากระโดง เนื่องจากไม่มีระวางแผนที่แนบท้ายที่แน่ชัดโดยมอบการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิสูจน์ สิทธิ์ ในศาลปกครอง ส่งผลให้รฟท. ส่งหนังสือคัดค้าน คำสั่งไปที่กรมที่ดินเมื่อวันที่11 พฤศจิกายน 2567 และมองว่า กรมที่ดินน่าจะยืนคำสั่งเดิม
ล่าสุด เมื่อวันที่12 พฤศจิกายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึง ถึงคำพิพากษาศาลปกครองให้เพิกถอนที่ดินเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ แต่อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งไม่เพิกถอน
ทั้งนี้มองว่า โดยหลักแล้วเมื่อศาลมีคำพิพากษาก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น ส่วนเรื่องความขัดแย้งระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกรมที่ดินในเรื่องนี้นั้น มองว่าเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสาร
หากลำดับเรื่องดีๆ หน่วยงานมาร่วมกันชี้แจง คิดว่าจะตรงกันได้ และไม่ใช่เรื่องว่าคำพิพากษาของศาลหรือคำสั่งอธิบดีใครใหญ่กว่าใคร ตนเห็นว่าไม่ควรพูดกันคนละที น่าจะตั้งโต๊ะร่วมกันและพูดกันเสียทีเดียว จะได้เข้าใจว่าเดิมที่มาที่ไปนั้นเป็นอย่างไร
“โดยหลักการต้องยึดตามคำพิพากษาของศาลปกครอง ไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกัน แต่กระบวนการและขั้นตอนยังไม่ตกลงกันให้ชัดเจน ไม่ได้มานั่งจับเข่าคุยกัน ผมคิดว่าถ้ามาจับเข่าคุยกันคงไม่เป็นปัญหามากนัก ย้ำว่าหากมีการพูดคุยกัน คงไม่จบลงที่การฟ้องร้อง เพราะที่หลวงก็คือที่หลวง ที่เอกชนก็คือที่เอกชน แค่นั้นเอง แก้ปัญหาสมมุติว่าเป็นที่หลวงแล้วให้เอกชนไปอยู่ เราจะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร เช่น ให้เขาเช่าในราคาถูก อย่างนี้เราก็ทำกันเป็นปกติในกรณีที่ราชพัสดุ อย่างกรณีที่อยู่มานานจนคิดว่าเป็นที่ของตัวเอง พอพิสูจน์สิทธิ์กันได้ว่าเป็นของใครก็ทำตามกติกา ย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไรกันหรอก แค่คุยกันคนละทีสองที” นายปกรณ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า คำพิพากษาของศาลปกครองค่อนข้างเคลียร์แล้วใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม แต่น่าจะชัดเจนอยู่ เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวเป็นประเด็นการเมืองที่ทำให้สับสนใช่หรือไม่ นายปกรณ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยระบุว่า เรื่องการเมืองไม่รู้
ที่มา:สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)