thansettakij
“บ้านเพื่อคนไทย” เปิดลงทะเบียนรับสิทธิลุ้นจอง 20 ม.ค.นี้

“บ้านเพื่อคนไทย” เปิดลงทะเบียนรับสิทธิลุ้นจอง 20 ม.ค.นี้

12 ธ.ค. 2567 | 06:18 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2567 | 08:04 น.

“คมนาคม” แย้มข่าวดี 20 ม.ค.นี้ เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิลุ้นจอง “บ้านเพื่อคนไทย” 150 ยูนิต ที่สถานีกลางกรุงเทพฯ นำร่องพื้นที่บางซื่อ กม.11- 3 จังหวัด คาดพร้อมเข้าอยู่อาศัยภายในปี 68

จากนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ประกาศให้รัฐบาลมีแผนเดินหน้าโครงการบ้านเพื่อคนไทยบนที่ดินของรัฐ โดยมุ่งเน้นการใช้ที่ดินของรัฐ ซึ่งนำร่องในพื้นที่ที่มีทำเลดี เดินทางสะดวก ใกล้เมือง บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมีรูปแบบคอนโดมิเนียม พื้นที่ 30 ตารางเมตร (ตร.ม.) พร้อมเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งมอบหมายให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

สำหรับการจ่ายค่าบ้านและคอนโดมิเนียมเป็นการจ่ายในระบบค่าเช่าเริ่มต้น 4,000 บาทต่อเดือน โดยไม่มีเงินดาวน์ ผ่อนในระยะยาวไม่เกิน 30 ปี สามารถใช้สิทธิอยู่อาศัยถึง 99 ปี โดยมุ่งเน้นสำหรับผู้ที่ไม่เคยมีบ้านมาก่อนและเป็นบ้านเพื่อคนไทยเท่านั้น คาดว่าภายในปี 2568 จะได้เห็นรูปแบบโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมเป็นรูปธรรม

20 ม.ค.นี้ เปิดลงทะเบียนลุ้นจองบ้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการบ้านเพื่อคนไทยนั้นจะเปิดให้ประชาชนได้เข้ามาเยี่ยมชมห้องตัวอย่างของโครงการ (Grand Opening) ในวันที่ 20 มกราคม 2568 ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยจะเปิดให้ประชาชนสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อลงทะเบียน Pre-Register ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อตรวจสอบสิทธิ์ว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่

ทั้งนี้โครงการบ้านเพื่อคนไทยมีเงื่อนไข ดังนี้ ผู้ที่ลงทะเบียนเป็นผู้ที่ไม่เคยมีบ้านมาก่อน ไม่มีเครดิตบูโร หลังจากนั้นทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะดำเนินการให้ผู้ที่ลงทะเบียนที่ให้ความสนใจโครงการฯ ตรวจสอบสิทธิ์เพื่อเช็คเครดิตและจะแจ้งผลการลงทะเบียน โดยจะกำหนดวันเวลาให้ผู้ที่ลงทะเบียนจองโครงการฯผ่านแอปพลิเคชันธอส.ต่อไป คาดว่าประชาชนที่ลงทะเบียนสามารถเข้าอยู่อาศัยไม่เกิน 150 ยูนิต ภายในปี 2568

นำร่องบ้าน-คอนโด 150 ยูนิต

ขณะเดียวกันจะนำร่องในพื้นที่ย่านบางซื่อ กม.11 เชียงใหม่ เชียงราก และกาญจนบุรี ไม่เกิน 150 ยูนิต แบ่งเป็น บ้านประมาณ 68 ยูนิต และคอนโดมิเนียม พื้นที่ประมาณ 68 ยูนิต โดยกฎหมายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ระบุว่า หากมีการก่อสร้างบ้านหรือคอนโดมิเนียมหากไม่เกินพื้นที่ 68 ยูนิต ไม่ต้องจัดทำรายงานอีไอเอ เป็นเหตุผลที่ภาครัฐจะดำเนินการจัดทำบ้านและคอนโดไม่เกินพื้นที่ตามที่กฎหมายอีไอเอกำหนด

ส่วนสาเหตุที่ใช้พื้นที่ของรฟท.เพื่อดำเนินการจัดทำบ้านเพื่อคนไทยนั้น แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า เนื่องจากพื้นที่ของรฟท.ไม่มีต้นทุน ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บ้านในโครงการฯนี้ไม่มีต้นทุนของที่ดิน ส่งผลให้บ้านมีราคาถูก แต่ประชาชนไม่มีสิทธิ์ได้กรรมสิทธิ์บ้านหรือคอนโดมิเนียม เนื่องจากเป็นที่ของรฟท. แต่สามารถเช่าเพื่ออยู่อาศัยในระยะยาวได้ถึง 99 ปี

เนรมิตพื้นที่ รฟท. 700 ไร่

ทั้งนี้จากการสำรวจที่ดินของการรถไฟฯ พบว่า ที่ดินรอบๆ สถานีรถไฟ หรือที่ดินที่มีที่ตั้งใกล้กับรางรถไฟที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถมีอยู่ประมาณ 38,000 ไร่ ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
ส่วนหลักเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยรวม 9 ข้อ เช่น ต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในจังหวัดหลัก เป็นพื้นที่ที่มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในบริเวณกลางชุมชน มีความพร้อมในการพัฒนา มีความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน มีความเป็นไปได้ในการจองสิทธิ์โครงการ มีตำแหน่งที่ตั้งใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยของภูมิภาคนั้นๆ มีอัตราความหนาแน่นของประชากรรอบพื้นที่ และใช้ราคาที่ดินเป็นตัวกำหนด

กางแผน 3 ระยะ ดันคนไทยมีบ้าน

จากเกณฑ์ข้างต้นทั้ง 9 ข้อพบว่า มีพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่ประมาณ 112 พื้นที่ และได้มีการประเมินคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงได้ 25 พื้นที่ เนื้อที่ประมาณ 700 ไร่ โดยการพัฒนาบ้านเพื่อคนไทยจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วนในปี 2567 และปี 2568 ประกอบด้วย ระยะเร่งด่วน ระยะที่ 1 โครงการอาคารชุด 3 พื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราก และบางซื่อ กม.11

ส่วนระยะเร่งด่วนระยะที่ 2 โครงการบ้าน 3 พื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี และนครราชสีมา ส่วนระยะสั้น เริ่มดำเนินการในปี 2569 ถึงปี 2571 และระยะกลาง ดำเนินการในปี 2572 ถึงปี 2576