การเคหะแห่งชาติ รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีพันธกิจหลักพัฒนาทิ่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค บริการสาธารณะยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน ครอบคลุมคนทุกกลุ่มวัยและให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อม
ภายใต้ การนำของ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ว่าการการเคหะฯในสมัยที่2 หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ วันที่ 6 สิงหาคม 2567 เพื่อให้การบริหารงานเกิดความคล่องตัวและมีความต่อเนื่องจากนโยบายที่ผ่านมา ขณะเดียวกันต้องสร้างรายได้ทำกำไร ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน
เป้าปี 68 สร้างกำไร 700ล้าน
นายทวีพงษ์ ให้สัมภาษณ์ ว่า ได้รับมอบนโยบายมาจากนายวราวุธ ศิลปอาชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่า ต้องสร้างกำไรซึ่ง ปัจจุบันการเคหะฯ มีกำไรเฉลี่ยทุกปีอยู่ที่ 400 ล้านบาท มาจากการขายบ้าน ค่าเช่า การจัดประโยชน์ โดยปี 2567 มีกำไร 600 ล้านบาท ปี2568 เป้ากำไร 700 ล้านบาทปี2569-2570 มีเป้าหมาย กำไรปีละ 1,000 ล้านบาท ขณะภาระหนี้ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจากการจัดประโยชน์ และพัฒนาโครงการเพิ่ม
เพิ่มความสามารถชำระหนี้
ทั้งนี้ภายใต้ภารกิจสำคัญ ที่ต้องแก้ปัญหา อันดับต้นๆ คือการเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ โดยปัจจุบันการเคหะฯมีทรัพย์อยู่มากแต่แนวทางแก้ไขคือการนำทรัพย์ ที่มีศักยภาพ ก่อให้เกิดการพัฒนาและนำเงินที่ได้ ไปชำระหนี้ อย่างกลุ่ม Sunk Cost (ซังก์คอสต์) หรือที่ดินโครงการก่อสร้างค้างไม่แล้วเสร็จ (โครงการบ้านเอื้ออาทร) กว่า4,000ไร่ นำมาทำประโยชน์และเป็นนโยบายของคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ (บอร์ดการเคหะฯ) ต้องการเห็นการพัฒนาต่อเนื่อง
ทั้งนี้โดย 4 ปีที่ผ่านมาไม่มีโครงการใหม่เกิดขึ้น ซึ่งมีแต่โครงการในสมัยของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์1 และต้องเร่งให้แล้วเสร็จโดยเร็วคาดว่าเดือนธันวาคม ปี2567 ไปจนถึงเดือนมีนาคมปี 2568 จะทยอยแล้วเสร็จและเร่งเติมจำนวนหน่วย ออกสู่ตลาด คาดว่าสามารถเสนอบอร์ดการเคหะ ได้ปลายปี 2568-2569 ซึ่งเป็นอาคารเช่า 4,000 หน่วย เป็นโครงการเดิม มีหน่วยแล้วเสร็จและหน่วยส่งมอบเฟสแรกกว่า 2,000 หน่วยและเสนอครม.สร้างต่อรวมถึงโครงการซังก์คอสต์ ดังกล่าว
พัฒนาบ้านรองรับคนทุกเพศทุกวัย
นายทวีพงษ์ ขยายความว่า สำหรับแผนพัฒนาซังก์คอสต์ โครงการบ้านเอื้ออาทร เกิดมาตั้งแต่ช่วงปฏิวัติซึ่งมีจำนวน 120 กว่าโครงการและช่วงที่ผ่านมาได้นำกลับมาพัฒนาปรับปรุงกว่า 30 โครงการ ปัจจุบันเหลือ อีก 94 โครงที่ยังไม่ปรับปรุง โดยล่าสุดการเคหะฯพยายามนำมาพัฒนา ทั้งนี้ในจำนวน 94 โครง มี 14 โครง ที่มีปัญหาดีมานด์ ดังนั้น จึงต้องทบทวน และมีอีก 11 โครงการใหม่ที่เตรียมเสนอ ครม.ซึ่งขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอต่อบอร์ดการเคหะฯ แต่ขณะนี้ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งเพราะเรื่องยังไม่เรียบร้อย
ขานรับนโยบายรักษ์โลก -อารยสถาปัตย์
อย่างไรก็ตาม การเคหะฯได้ปรับเปลี่ยนการพัฒนาโครงการให้สอดรับกับนโยบายกระทรวงพม.โดยการเคหะเตรียมแผนเสนอครม.พัฒนาบ้านเพื่อรองรับคนทุกเพศทุกวัยตามนโยบาย รมว.พม.ที่จะต้องมีเรื่องของอารยสถาปัตย์ (Universal Design ) การออกแบบเพื่อให้ทุกคนได้มีสภาพแวดล้อม การใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้โดยไม่เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นเพศใดหรือวัยใด รวมไปถึงคนที่ทุพพลภาพ ซึ่งหัวใจสำคัญของการออกแบบ ความเท่าเทียมในการใช้งานได้ของทุกคน ซึ่งทั่วโลกต่างยอมรับ รองรับผู้พิการ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และมาตรการรักษ์โลก
ทั้งนี้ นายวราวุธ รมว.พม. ได้มอบนโยบายเพิ่มเติมว่าให้การเคหะฯ ช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยนำนโยบายที่เคย ปฎิบัติหน้าที่เป็นรมว.กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก่อนหน้านี้ มาปรับใช้กับลูกบ้านเพื่อป้องปราม โลกร้อน เพราะเอลนีโญ -ลานีญาจะเริ่มรุนแรงขึ้น อย่างเดือนเมษายน จะร้อนจัด และเมื่อถึงฤดูนํ้าหลาก ไม่ท่วมธรรมดาแต่ได้นำพาดินโคลนมาด้วยเพราะป่าไม่เหลือแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ รมว.พม.มอบนโยบาย ส่งผลให้การเคหะฯ ต้อง คำนึงถึงการ สร้างที่อยู่อาศัยรองรับภัยพิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ต้องศึกษาและพิจารณาเรื่องเส้นทางของนํ้าจากบทเรียนนํ้าท่วมใหญ่ภาคเหนือ นอกจากนี้ทุกโครงการทั้งเก่าและใหม่ โดยเฉพาะแฟลต 5 ชั้น จะมีลิฟต์โดยสารโดยใช้วิธีเช่า ซึ่งคำนึงถึงคุณภาพผู้อยู่อาศัยที่เป็นผู้สูงอายุและอนาคตจะเป็นผู้สูงอายุ รวมถึงผู้พิการ อีกทั้งยังติดตั้ง
โซลาร์รูฟท็อป มุ่งเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ที่ผ่านมาการเคหะฯหยุดผลิตที่อยู่อาศัยไปนาน ส่งผลให้สินค้าในตลาดหายไปและส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับอาคารเช่า ขณะความต้องการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยมีสูงมาก แต่เข้าถึงสินเชื่อค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม การเคหะฯ มอบสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า สำรวจ ความต้องการที่อยู่อาศัยซึ่งมีมากถึง 2.27 ล้านหน่วยแต่ครั้งนั้นมีการนับซํ้าและล่าสุดเมื่อสำรวจจริงเหลือ 1.28 ล้านหน่วย แต่ถือว่าเป็นตัวเลขความต้องการที่มากพอสมควรที่รัฐต้องมีมาตรการรองรับ
ดึงเอกชนพัฒนาสร้างรายได้
อีกแผนต้องเร่งดำเนินคือการจัดประโยชน์ที่ดินแปลงใหญ่ ให้เอกชนพัฒนา เช่นที่ดินแปลงร่มเกล้า กรุงเทพมหานคร ที่ดินแปลงลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี และที่ดินแปลงหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่ โดยปรับแผน ปล่อยเอกชนเช่า คาดว่าจะเริ่มที่แปลงหนองหอยก่อน บนที่ดิน 52 ไร่ ซึ่งมีเอกชนให้ความสนใจค่อนข้างมาก โดยมีแผนพัฒนาเป็นศูนย์ผู้สูงอายุครบวงจร มีบ้าน โรงพยาบาล
ส่วนที่ดินแปลงร่มเกล้าบอร์ดการเคหะฯ ชุดเดิมทำไว้ เป็นโครงการมิกซ์ยูสแต่บอร์ดชุดใหม่มองว่าเศรษฐกิจชะลอตัว ในระยะยาว อาจเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้น จึงชะลอไว้ก่อน รวมถึงเร่งรัดโครงการฟื้นฟูดินแดง และขยับ เฟสพัฒนารองรับความเจริญให้เร็วขึ้นเนื่องจากดินแดงเป็นทำเลกลางเมืองมีศักยภาพ และใกล้กับพระราม9 ศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ซึ่งมีโครงการคอนโดมิเนียมของภาคเอกชนจำนวนมากและล้วนมีราคาค่อนข้างสูงเฉลี่ยกว่า 3 ล้านบาทต่อหน่วยขึ้นไป ขณะโครงการดินแดง เป็นกลุ่มราคาไม่สูงจับต้องได้และเป็นอาคารเช่า จากเดิมมีผู้อยู่อาศัย 6,212 ครัวเรือน เพิ่มเป็น13,076 ครัวเรือน รองรับผู้เช่ารายใหม่ด้วย
ดังนั้นโครงการแฟลตดินแดง จึงมีมูลค่าและเป็นที่สนใจ ของกลุ่มผู้เช่าใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีที่อยู่อาศัยแล้วจะขยับแผนพัฒนามิกซ์ยูสรองรับผู้อยู่อาศัยและคนภายนอกด้วย ที่สำคัญโครงการดินแดงดังกล่าวจะเน้นความเป็นเมืองสีเขียวในอนาคตคล้ายกับโครงการวัน แบงค็อก ย่านพระราม 4 ที่น่าจับตา !!!
หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,055 วันที่ 22 - 25 ธันวาคม พ.ศ. 2567