ย้อนรอย "บ้านเอื้ออาทร" สู่ "บ้านเพื่อคนไทย" เทียบ 2 ยุคทำให้คนไทยมีบ้าน

09 ม.ค. 2568 | 06:26 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2568 | 12:54 น.

20 ปีผ่านไป จาก “โครงการบ้านเอื้ออาทร” ยุค “ทักษิณ ชินวัตร” สู่ "โครงการบ้านเพื่อคนไทย" ยุค “แพทองธาร ชินวัตร” เปรียบเทียบนโยบาย 2 ยุค ความเหมือนและความต่าง บนเป้าหมายเดียวกันคือเพิ่มโอกาสทำให้คนไทยมีบ้าน

"อีก 5 ปี ประเทศไทยจะไม่มีสลัม" คำประกาศของ นายทักษิณ ชินวัตร ในปี 2547 ในช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นจุดเริ่มต้นของ "โครงการบ้านเอื้ออาทร" นโยบายที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย

 

ย้อนรอย \"บ้านเอื้ออาทร\" สู่ \"บ้านเพื่อคนไทย\" เทียบ 2 ยุคทำให้คนไทยมีบ้าน

 

และ 20 ปีผ่านไป นโบายรัฐบาลที่หวังเติมโอกาสให้คนไทยมีที่อยู่อาศัย กลับมาอีกครั้งในรูปแบบใหม่ผ่าน "โครงการบ้านเพื่อคนไทย" หนึ่งในโครงการเรือธงของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในปี 2568

 

ย้อนรอย \"บ้านเอื้ออาทร\" สู่ \"บ้านเพื่อคนไทย\" เทียบ 2 ยุคทำให้คนไทยมีบ้าน

 

กำเนิดบ้านเอื้ออาทร

ย้อนกลับไปในปี 2546 การเกิดขึ้นของโครงการบ้านเอื้ออาทรเกิดจากประสบการณ์ตรงของทักษิณ ในการลงพื้นที่พบประชาชน 

"สมัยที่ผมหาเสียงครั้งแรก ได้เดินทางมาพบกับผู้นำชุมชนต่าง ๆ ก็ได้รับทราบว่า สิ่งที่ชุมชนวิตกกังวลมากที่สุด คือปัญหาที่อยู่อาศัย และการไล่รื้อ จึงเก็บเรื่องนี้มาเป็นการบ้าน"

สู่ยุค "บ้านเพื่อคนไทย 2568"

20 ปีผ่านไป ความฝันเรื่องที่อยู่อาศัยได้รับการต่อยอดในมิติใหม่ผ่าน "โครงการบ้านเพื่อคนไทย" ที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของนายทักษิณ ประกาศเป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาล โดยมีจุดเด่นที่การผสานแนวคิดที่อยู่อาศัยเข้ากับระบบขนส่งมวลชน

 

ย้อนรอย \"บ้านเอื้ออาทร\" สู่ \"บ้านเพื่อคนไทย\" เทียบ 2 ยุคทำให้คนไทยมีบ้าน

 

โครงการบ้านเพื่อคนไทย (Public Housing) คอนโดคุณภาพดีพร้อมเฟอร์นิเจอร์พร้อมอยู่ เริ่มต้นประมาณ 30 ตารางเมตร ผ่อนเดือนละประมาณ 4,000 บาท เป็นเวลาประมาณ 25 ปี และให้สิทธิอยู่อาศัย 99 ปี ที่จะเป็นความหวังของคนไทยที่อยากมีบ้าน” นางสาวแพทองธารได้ประกาศเจตนารมณ์ผ่านแคมเปญ "2568 โอกาสไทย ทำได้จริง" 

สอดรับกับไอเดียของนายทักษิณ ที่กล่าวถึงโครงการบ้านเพื่อคนไทยในหลายเวทีว่า บ้านเพื่อคนไทยนี้ไม่ใช่บ้านคนจน แต่เป็นบ้านคนตั้งตัวใหม่

"บ้านนี้ มีเฟอร์นิเจอร์และมีส้วมไฟฟ้า จึงไม่ใช่บ้านคนจน เป็นบ้านคนตั้งตัวใหม่ และคนที่อยู่สลัม ความฝันคือพรุ่งนี้ยังมีอะไรกิน เอาตังค์ไหนให้ลูกไปเรียนอย่างไร แต่เมื่อมาอยู่บ้านแบบนี้ นั่งส้วมไฟฟ้า ฝันก็ไปได้ไกล และเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองและประเทศขับเคลื่อนได้เร็วยิ่งขึ้น"

 

ย้อนรอย \"บ้านเอื้ออาทร\" สู่ \"บ้านเพื่อคนไทย\" เทียบ 2 ยุคทำให้คนไทยมีบ้าน

 

เปรียบเทียบนโยบายสองยุคสมัย

บ้านเอื้ออาทร แรกเริ่มนโยบายด้วยการกำหนดเป้าหมายการสร้าง 1 ล้านหน่วย ในราคา 400,000-700,000 บาท กระจายตัวทั่วประเทศ เน้นความหลากหลายของรูปแบบที่อยู่อาศัยตั้งแต่บ้านเดี่ยวไปจนถึงอาคารชุด

ขณะที่ "บ้านเพื่อคนไทย" มีจุดต่างไปอีกขั้นด้วยแนวคิด "ทรัพย์อิงสิทธิ" ที่ให้สิทธิการอยู่อาศัย 99 ปี พร้อมด้วยการผสานกับระบบขนส่งมวลชน

"เมื่อค่ารถไฟฟ้าถูก ผู้มีรายได้น้อย คนทำงาน นักศึกษา สามารถเข้าถึงระบบราง หากประชาชนประหยัดค่าเดินทางได้ จะสามารถนำเงินมาเป็นค่าผ่อนบ้านได้" สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯและรมว.คมนาคม อธิบายเพิ่มเติมถึงจุดขายบ้านเพื่อคนไทย

 

ย้อนรอย \"บ้านเอื้ออาทร\" สู่ \"บ้านเพื่อคนไทย\" เทียบ 2 ยุคทำให้คนไทยมีบ้าน

 

ปรับคุณสมบัติและเงื่อนไขให้เข้ากับยุคสมัย

ในยุคบ้านเอื้ออาทร เงื่อนไขรายได้ครอบครัวอยู่ที่ไม่เกิน 40,000 บาทต่อเดือน ขณะที่บ้านเพื่อคนไทยปรับเพิ่มเป็น 50,000 บาท สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ยังคงมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

ส่วนนวัตกรรมในการอยู่อาศัย โครงการบ้านเพื่อคนไทย ถูกกำหนดว่าจะไม่เพียงแต่เป็นที่อยู่อาศัย แต่มาพร้อมกับแนวคิดการยกระดับคุณภาพชีวิตแบบองค์รวม ทั้งเฟอร์นิเจอร์ครบชุด สิ่งอำนวยความสะดวกทันสมัย และที่สำคัญคือการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน

สองทศวรรษผ่านไป จากบ้านเอื้ออาทรสู่บ้านเพื่อคนไทย แม้รูปแบบและวิธีการจะแตกต่าง แต่รากเหง้าแนวคิดสำคัญของนโยบายยังคงเดิม นั่นคือการสร้างโอกาสให้คนไทยได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับคุณภาพชีวิต 

 

ภาพลิขสิทธิ์ : Nation Photo