นโยบาย ผลักดัน"บ้านเพื่อคนไทย "บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมีหมุดหมายสนับสนุนผู้มีรายได้น้อย มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ภายใต้รัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อ นายสุริยะจึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ประกาศชัดว่าวันที่20มกราคม2568เปิดให้ประชาชนผู้สนใจลงทะเบียนเพื่อจองสิทธิ์ “บ้านเพื่อคนไทย” พร้อมเงื่อนไขคุณสมบัติ โดยประชาชนที่สนใจสามารถดำเนินการผ่าน 2 ช่องทาง ประกอบด้วย
1.สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
2.เว็บไซต์ www.บ้านเพื่อคนไทย.th
นำร่องในพื้นที่ 4 แห่ง ของรฟท. ประกอบด้วย 1.พื้นที่บางซื่อ กม.11 2.พื้นที่สถานีธนบุรี 3.พื้นที่เชียงราก 4.พื้นที่สถานีเชียงใหม่ ขณะเดียวกันในวันที่ 17 ม.ค.นี้ นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ตรวจความพร้อมบ้านตัวอย่างที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ก่อนจะเปิดให้ประชาชนยื่นแสดงเจตจำนงต่อไป โดยเบื้องต้นคุณสมบัติจะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน50,000บาทต่อเดือน เป็นผู้ไม่เคยมีที่อยู่อาศัยมาก่อน รวมทั้งไม่ติดเครดิตบูโรฯลฯ ซึ่งอาจมีประชาชนหลายรายโชคดี แต่สำหรับกลุ่มที่ติดเครดิตบูโร สามารถแก้ไขได้แต่อาจไม่ทันการเปิดจอง ในทำเลที่ต้องการ
โดยเฉพาะทำเลที่เป็นไฮไลต์ หนึ่งใน4พื้นที่นำร่อง ที่เปิดให้ประชาชนจองสิทธิ์เพื่อซื้อบ้านเพื่อคนไทยก่อนคือ ที่ดิน กม.11 บางซื่อซึ่งเป็น ที่ดินทำเลทองคำของ รฟท. เพราะมูลค่าที่ดินสูง สะท้อนได้จาก ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ประเมินไว้ที่ 300,000แสนบาทต่อตารางวา
ขณะเดียวกันยังเป็นเซ็นเตอร์สำคัญต่อการเดินทางการ ทั้งใกล้ รถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีน้ำเงิน ใกล้ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพหลโยธิน รวมถึงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานนีกลางบางซื่อ ศูนย์กลาง (ฮับ) การขนส่งทางรางแห่งใหม่ของไทยและใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่สำคัญยังอยู่ใกล้กับศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว สวนจตุจักร ยังตั้งอยู่หลังอาคารสำนักงานใหญ่ของปตท. และกระทรวงพลังงาน
ทำเลทองคำดังกล่าว กระทรวงคมนาคมจึง กำหนด ให้พัฒนา เป็นคอนโดมิเนียมสูง45 ชั้น เนื่องจากหากก่อสร้างคอนโดมิเนียมเพียง 8 ชั้น ในราคาขาย 2 ล้านบาทต่อหน่วยมองว่าไม่คุ้มค่า เพราะที่ดินบริเวณดังกล่าวมีราคาแพงถึง 300 ล้านบาทต่อไร่ ควรก่อสร้าง 45 ชั้น จะคุ้มค่าต่อราคาบ้านที่จะเปิดขายในราคา 1 ล้านบาทต่อหลัง/ต่อห้อง มากกว่า ซึ่งจะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)
หลังจากทราบว่าได้รับสิทธิ์แล้วจะดำเนินการตามกระบวนการของธนาคารเพื่ออาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ต่อไป หากผ่านการพิจารณาแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการจับฉลากเพื่อรับสิทธิ์ในการซื้อโครงการบ้านเพื่อคนไทย โดยสามารถตรวจสอบสิทธิ์ได้ที่เว็บไซต์ www.บ้านเพื่อคนไทย.th โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ์ต้องต่อต่อเจ้าหน้าที่ภายในเวลาที่กำหนด เพื่อทำการตรวจสอบคุณสมบัติตามที่โครงการกำหนด หากไม่ผ่านเกณฑ์จะถือว่าสละสิทธิ์
สำหรับการกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้ซื้อสิทธิ์ ดังนี้
1.เป็นผู้มีสัญชาติไทย
2.เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ณ วันลงทะเบียน
3.เป็นผู้มีรายได้ ณ วันลงทะเบียน ไม่เกิน 50,000 บาท ต่อเดือน
4.ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่อาจใช้พักอาศัยได้ทุกประเภท
5.ไม่เคยได้สิทธิ์ในโครงการบ้านเพื่อคนไทย
เงื่อนไขการซื้อสิทธิ์โครงการบ้านเพื่อคนไทย
1.ผู้ซื้อสิทธิ์ 1 ท่าน มีสิทธิ์จองอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างได้ 1 หน่วย ต่อ 1 โครงการ แต่หากการพิจารณาให้สิทธิ์ในโครงการใดเสร็จสิ้นไปแล้วและไม่ได้สิทธิ์ สามารถใช้สิทธิ์จองอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอีกครั้งในจังหวัดเดิมได้
2.ห้ามโอนสิทธิ์ในโครงการบ้านเพื่อคนไทยภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันจดทะเบียนสิทธิ์
3.ห้ามนำอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในโครงการบ้านเพื่อคนไทยไปให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์หรือทำนิติกรรมในลักษณะห้ามเช่าที่เป็นการต่างตอบแทนเพื่อให้บุคคลอื่นได้ใช้ประโยชน์ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง เว้นแต่เป็นการเพื่อใช้ประโยชน์ของสมาชิกในครอบครัวของผู้ซื้อสิทธิ์
4.หากความปรากฎว่าผู้ซื้อสิทธิ์ขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง โดยขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกสิทธิ์ในโครงการบ้านเพื่อคนไทยบอกเลิกสัญญาหรือปรับอัตราผลตอบแทนตามเหตุและปัจจัย
5.หากความปรากฎว่าผู้ซื้อสิทธิ์มีพฤติการณ์ปรากฎให้เห็นหรือเชื่อได้ว่าเป็นผู้มีรายได้เกินกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกสิทธิบ้านเพื่อคนไทยบอกเลิกสัญญาหรือปรับอัตราผลตอบแทนตามเหตุและปัจจัย
6.เงื่อนไขอื่นเป็นไปตามประกาศที่กำหนด
7.สงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและเงื่อนไขใดๆดังกล่าวข้างต้น
นี่เป็นโครงการบ้านเพื่อคนไทยที่จะสร้างโอกาสของประชาชนเข้าถึงสินเชื่อมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ในราคาจับต้องได้ผ่อนระยะยาวกับธอส.30ปีดอกเบี้ยต่ำ 2.50% ผ่อนครบได้สิทธิ์ อยู่ยาว99ปี ตามเป้าหมายของรัฐบาล ท่ามกลางผลกระทบของภาคเอกชน ที่ดินจับต้องต้นทุนที่ภาคเอกชนปฏิเสธไม่ได้และนำมาซึ่งบ้านราคาแพงที่ประชาชนเข้าถึงยากและสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ