สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตแล้ว ด้วยพระชนมายุ 96 พรรษา หลังจากนี้ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ วัย 73 ปี จะขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 คือผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุด โดยเป็นประมุขแห่งสหราชอาณาจักร และอีก 14 อาณาจักร และเป็นประมุขของ 54 ชาติในเครือจักรภพ
รัฐบาลอังกฤษได้เปิดแผนการหลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในชื่อปฏิบัติการ ‘ลอนดอนบริดจ์’ รวมถึงปฏิบัติการ ‘สปริงไทด์’ หรือการขึ้นครองราชย์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์
ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากสมเด็จพระราชินีนาถสวรรคต นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่อาวุโสจำนวนหนึ่งจะได้ทราบข่าว โดยเลขาฯ ของพระราชินีจะแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ จากนั้นจะแจ้งแก่สำนักองคมนตรี ที่ประสานงานราชการในนามของพระราชินี
การแจ้งข่าวการสวรรคต อยู่ภายใต้รหัส “สะพานลอนดอนล่มแล้ว” หรือ “London Bridge is down”
นอกจากโทรศัพท์แจ้งข่าวแล้ว รัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงจะได้รับอีเมลจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรีด้วย หลังจากได้รับอีเมลดังกล่าว อาคารรัฐบาลทั้งหมดจะลดธงลงครึ่งเสาภายใน 10 นาที
ขณะที่พระราชวงศ์จะออกประกาศอย่างเป็นทางการเพื่อแจ้งข่าวต่อสาธารณะ และประกาศหมายกำหนดการพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นเป็นเวลา 10 วัน
นายกรัฐมนตรีจะออกแถลงการณ์ ขณะที่สมาชิกรัฐบาลทั้งหมดจะได้รับคำสั่งไม่ให้แสดงความคิดเห็นก่อนหน้านั้น
กระทรวงกลาโหมจะจัดให้มีการยิงสลุต และรัฐบาลจะประกาศให้ประชาชนร่วมยืนสงบนิ่งไว้อาลัยสมเด็จพระราชินี จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเข้าเฝ้ากษัตริย์พระองค์ใหม่ และแถลงการณ์จากพระเจ้าชาร์ลส์จะถ่ายทอดไปทั่วประเทศ
ในเวลาเดียวกัน จะมีพิธีมิสซาถวายความอาลัยจัดขึ้น ณ มหาวิหารเซนต์พอล ในกรุงลอนดอน ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงส่วนหนึ่งเข้าร่วม
10 โมงเช้า หลังจากวันที่สมเด็จพระราชินีนาถสวรรคต สภาองคมนตรีรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลอาวุโส ร่วมประชุมที่พระราชวังเซนต์เจมส์เพื่อประกาศให้พระเจ้าชาร์ลส์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ ที่ปรึกษาองคมนตรีนับร้อยคน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเข้าร่วมด้วย
รัฐสภาจะประชุมตกลงข้อความแสดงความเสียใจ กิจธุระของรัฐสภาทั้งหมดจะระงับเป็นเวลา 10 วัน ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะเข้าเฝ้ากษัตริย์องค์ใหม่
หากพระราชินีสวรรคตที่ซานดริงแฮม ที่ประทับส่วนพระองค์ในนอร์ฟอล์ก ทางตะวันออกของอังกฤษ หีบพระบรมศพของพระองค์จะเดินทางโดยรถไฟหลวงมายังสถานีแพนแครสในกรุงลอนดอน ซึ่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมารอรับ
หากพระองค์สวรรคตที่พระตำหนักบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ จะเข้าสู่ปฏิบัติการ ‘ยูนิคอร์น’ (Operation Unicorn) ซึ่งรถไฟหลวงจะนำพระบรมศพของพระองค์กลับมายังลอนดอน หรืออาจเปลี่ยนเป็นปฏิบัติการ ‘โอเวอร์สตัดดี’ (Operation Overstudy) นั่นคือขนส่งหีบพระบรมศพกลับมาทางเครื่องบิน
ช่วงเช้า พระเจ้าชาร์ลส์จะได้รับการแสดงความเสียใจจากรัฐสภา จากนั้นในช่วงบ่าย พระองค์จะเริ่มพระราชกรณียกิจในสหราชอาณาจักร เริ่มต้นด้วยการเยือนสภาสกอตแลนด์ และเข้าร่วมพิธีมิสซาที่มหาวิหารเซนต์ไจลส์ในกรุงเอดินเบอระ
พระเจ้าชาร์ลส์เสด็จพระราชดำเนินถึงไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งจะได้รับการแสดงความเสียใจ ณ พระตำหนักฮิลส์โบโร และร่วมพิธีมิสซาที่มหาวิหารเซนต์แอนน์ในกรุงเบลฟาสต์
ระหว่างนั้น จะเข้าสู่ปฏิบัติการ ‘ไลออน’ (Operation Lion) หรือการซ้อมพิธีพระบรมศพ โดยขบวนเคลื่อนหีบพระบรมศพจากพระราชวังบักกิงแฮมไปยังอาคารรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์
ขบวนพระบรมศพเริ่มเคลื่อนจากพระราชวังบักกิงแฮมไปยังรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ เมื่อหีบพระบรมศพมาถึงอาคารรัฐสภาจะมีพิธีมิสซา
พระบรมศพของพระราชินีจะอยู่ที่อาคารรัฐสภาเป็นเวลา 3 วัน ในปฏิบัติการ ‘เฟเทอร์’ (Operation Feather) หีบพระบรมศพของพระองค์จะตั้งอยู่บนพระจิตกาธานกลางเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนเคารพพระบรมศพ 23 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายบัตรวีไอพีสำหรับบางช่วงเวลาเป็นกรณีพิเศษ
ในวันที่ 6 มีการซ้อมพิธีพระบรมศพของรัฐ
ในวันที่ 7 พระเจ้าชาร์ลส์ เสด็จพระราชดำเนินเยือนเวลส์และได้รับการแสดงความเสียใจจากสภาเวลส์ จากนั้นเข้าร่วมพิธีมิสซาที่มหาวิหารแลนดัฟฟ์ในกรุงคาร์ดิฟฟ์
หน่วยงานที่ต้องรับบทหนักในที่นี้คือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม โดยกระทรวงการต่างประเทศต้องเชิญผู้นำประเทศต่างๆ และบุคคลชั้นนำมาร่วมพิธีพระบรมศพ รวมถึงบริหารจัดการนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศในช่วงที่ยังมีโรคระบาด
กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบในการจัดการเรื่องความปลอดภัย ขณะที่สำนักเลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติและสำนักข่าวกรองต้องตื่นตัวในระดับสูงหากมีภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้น
กระทรวงคมนาคมแสดงความกังวลว่าจำนวนผู้ที่ต้องการเดินทางไปลอนดอนอาจทำให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง และนำไปสู่ความแออัดคับคั่งของประชาชนได้
นายกรัฐมนตรีและสมเด็จพระราชินีเห็นพ้องต้องกันว่าวันงานพระบรมศพของรัฐจะเป็น ‘วันไว้ทุกข์แห่งชาติ’ โดยวันดังกล่าวจะกลายเป็นวันหยุดธนาคารไปโดยปริยาย
นอกจากนี้ หากงานศพตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดธนาคาร จะไม่มีวันหยุดธนาคารเพิ่มเติม หากงานศพตรงกับวันธรรมดา รัฐบาลไม่มีแผนสั่งให้นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานแต่อย่างใด
พิธีพระบรมศพโดยรัฐจะจัดขึ้นที่เวสต์มินสเตอร์แอบบี (Westminster Abbey) พระอารามหลวงที่จัดพิธีการสำคัญของประเทศ
ในตอนเที่ยง ทั่วประเทศจะอยู่ในความเงียบเป็นเวลา 2 นาที
ขบวนพระบรมศพจะจัดขึ้นทั้งในกรุงลอนดอนและที่พระราชวังวินด์เซอร์ ทางตะวันตกของลอนดอน โดยจะมีพิธีการในโบสถ์เซนต์จอร์จที่พระราชวังวินด์เซอร์ จากนั้นจะเคลื่อนพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เข้าไปฝังในโบสถ์อนุสรณ์พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของพระองค์
Cr : politico.eu/ independent.co.uk