การประชุม COP27 หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 มีผู้แทนจากเกือบ 200 ชาติเข้าร่วมการประชุมที่เมือง “ชาม เอล ชีค” (Sharm el-Sheikh) อียิปต์ หัวข้อใหญ่ที่ถูกจับตาก็คือ ประเทศร่ำรวยควรต้องจ่ายเงินชดเชยความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) เพื่อช่วยประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโลกรวนหรือไม่
ทั้งนี้ การประชุมที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์เมื่อปีที่แล้ว ก็เคยมีความพยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ชดเชยความเสียหายให้แก่ชาติยากจน แต่ถูกประเทศร่ำรวยสกัดไว้
Loss and Damage คือ ความสูญเสียและความเสียหาย
ผลกระทบจาก Climate Change ถ้อยคำที่ตามมาก็คือ “Loss & Damage” ปัจจุบันมีการให้คำนิยาม “Loss & Damage” อย่างไม่เป็นทางการจากหลายที่มา
- ความสูญเสีย (Loss) คือ มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปและไม่สามารถนำกลับมาได้ ต้นทุนจะเกิดขึ้นจนกระทั่งความเสียหายถูกฟื้นฟูให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม โดยต้นทุนดังกล่าวนั้นหมายถึง รายได้หรือผลผลิตที่สูญเสียไป และ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการสูญเสียความสามารถในการผลิต (loss in productivity) ซึ่งอยู่ในรูปต้นทุนค่าเสียโอกาสรูปแบบต่าง ๆ
- ความเสียหาย (Damage) คือ ความเสียหายต่อทรัพย์สินในเชิงกายภาพ ซึ่งเกิดขึ้นทันที และสามารถซ่อม สร้างกลับขึ้นมาใหม่ได้
ทำไมต้องชดเชยความสูญเสียและความเสียหายจาก "โลกรวน"
- โลกกำลังเผชิญกับความเสียหายจากปัญหาโลกรวน ไม่ว่าจะ น้ำท่วม ภัยเเล้ง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่บรรดาประเทศกำลังพัฒนาต่างออกมาเรียกร้อง โดยเฉพาะ "นักสิ่งเเวดล้อม" ให้ประเทศที่ร่ำรวยจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย เช่น น้ำท่วมปากีสถาน หลายฝ่ายมองว่า น้ำท่วมรุนแรงเป็นผลพวงจากภาวะโลกรวนขณะที่ปากีสถานปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ดังนั้นประเทศที่ร่ำรวยจึงควรต้องออกมารับผิดชอบการกระทำ
- Global Climate Risk Index ปี 2021 รายงานประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวนมากที่สุด 10 อันดับ ในช่วงปี 2000-2019 ล้วนแต่เป็นประเทศยากจนหรือกำลังพัฒนา โดย 3 อันดับแรกคือ เปอร์โตริโก, พม่า และ เฮติ
- ส่วนไทย อันดับที่ 9 พบความเสียหายทางเศรษฐกิจไปทั้งหมด 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.9 แสนล้านบาท และเกิดเหตุภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกรวนไปทั้งหมด 149 ครั้ง
- เงินทุนสำหรับแก้ไขปัญหาโลกรวนนั้นจะมุ่งเน้นนำไปใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ขณะที่อีกส่วนะถูกจัดสรรไปยังโครงการต่างๆ ที่มุ่งช่วยเหลือชุมชนให้สามารถปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบ
- การศึกษาของมูลนิธิคริสเตียนอุปถัมภ์ (Cristian Aid) พบว่า เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงทั่วโลกถึง 15 เหตุการณ์ และมีถึง 10 เหตุการณ์ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ จากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปี 2021 วาตภัยและอุทกภัยเป็นสาเหตุหลักของความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งมีมูลค่ารวมถึง 170.3 พันล้านดอลลาร์
- การเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วจ่ายเงินชดเชยนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นหัวข้อที่ประเทศกำลังพัฒนาเสนอขึ้นมาตั้งแต่มีการประชุม COP ครั้งแรกเมื่อปี 1995