สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ภาคเหนือ PM2.5 มีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเริ่มเกินค่ามาตรฐานตั้งแต่เดือนมกราคม - ปัจจุบัน พบค่าสูงสุดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา แม่ฮ่องสอน ตามลำดับ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และจากรายงานข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบสัดส่วนจุดความร้อนสะสมพื้นที่ป่า 77 % พื้นที่เกษตร 18% และพื้นที่เมือง 5%
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุถึงแผนยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่น PM2.5 พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ" ปีนี้ว่า นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา) ห่วงใยสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ
กำลังประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) จากการเผาในที่โล่ง จึงมีข้อสั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยกระดับการแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือ ล่าสุด นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เรียกประชุม 17 จังหวัด และหน่วยงานภายใต้สังกัด ทส.
ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ เพื่อยกระดับการแก้ไขสถานการณ์หมอกควันไฟป่าภาคเหนือ กำชับทุกหน่วยงานดำเนินการ ประกอบด้วย
1. ยกระดับการทำงานให้เข้มข้นกว่าที่ผ่านมา ให้กระทำด้วยความชัดเจน กระชับ ฉับไว ต้องทำให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน
2.เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในพื้นที่ป่าซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) และกรมป่าไม้ (ปม.) ให้ใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่พิจารณาปิดการเข้าพื้นที่ที่กำลังเป็นปัญหาและพื้นที่ที่มีความเสี่ยง
โดยต้องหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนดำเนินการ และประกาศให้พี่น้องประชาชนทราบ ไม่ให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติ ทั้งนี้ อส. ได้ดำเนินการปิดอุทยานฯ 8 แห่ง (ยกเว้นส่วนให้บริการ)
ดังนี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย อุทยานแห่งชาติผาแดง อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท อุทยานแห่งชาติออบหลวง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย อุทยานแห่งชาติแม่ปิง อุทยานแห่งชาติศรีน่าน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น
3. ให้ทุกหน่วยงานภายใต้สังกัด ทส. โดยเฉพาะ ทสจ. ประสานงาน บูรณาการ และให้การสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัดอย่างเต็มที่ ให้เพิ่มความถี่ในการประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชน
จัดการแถลงข่าวเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ช่วงสถานการณ์วิกฤตให้แถลงข่าวทุกวัน โดยเฉพาะการให้คำแนะนำในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ มีการให้บริการห้องปลอดฝุ่นกับประชาชนกลุ่มเสี่ยง
ทั้งนี้ ปลัด ทส. ยังได้กำชับให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า ภาคเหนือ) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประสานงานกับทุกหน่วยงาน ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพิ่มความถี่ในการลาดตระเวน เฝ้าระวัง และดับไฟโดยเร็วที่สุด
ให้ดำเนินการอย่างเต็มกำลังเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็วที่สุด และจะเข้มงวดติดตามและประเมินสถานการณ์ภายใน 3 วัน โดยประชาชนสามารถติดตามคุณภาพอากาศได้ทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และแอปพลิเคชัน Air4Thai นายปิ่นสักก์ กล่าว