IVL ทุ่ม 5 หมื่นล. ขยายกำลังผลิต รีไซเคิลขวดพลาสติกทั่วโลก

24 พ.ค. 2566 | 06:47 น.
อัพเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2566 | 07:13 น.

“รีไซเคิล” เป็นธุรกิจที่ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ด้วยการซื้อกิจการ บริษัท เวลแมน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดในยุโรป เพื่อเดินหน้าสู่ธุรกิจรีไซเคิลอย่างจริงจัง

 และมอบหมายให้ “ยาโชวาดัน โลเฮีย” หรือ “คุณยาช” ลูกชายของ อาลก โลเฮีย ซีอีโอกลุ่มอินโดรามา เวนเจอร์ส มานั่งเป็น ประธานคณะกรรมการด้านการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสังคม และ การกำกับดูแล อินโดรามา เวนเจอร์ส

  • วิชั่น 2030 เดินหน้า Net Zero

เมื่อปี 2565 นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้ประกาศ Vision 2030 ด้วยเป้าหมายความยั่งยืน science-based targets สนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทั่วโลกภายในปี 2593 (ค.ศ.2030) ซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้โครงการริ่เริ่มกำหนดเป้าหมายโดยอิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets initiative: SBTi) ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนที่ท้าทายของบริษัทฯ พร้อมร่วมเป็นที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญใน SBTi Expert Advisory Group สำหรับอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์


 ไอวีแอล มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดบนเส้นทางสู่ “Net Zero” บน 3 เสาหลัก ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงาน ผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมและยั่งยืน และการเป็นองค์กร ที่พร้อมสำหรับอนาคต ปัจจุบัน ไอวีแอล เป็นผู้ผลิต recycled PET สำหรับขวดเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในโลกอยู่แล้ว และจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน แก้ปัญหาเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ (Scope 3) รวมทั้งยกระดับความสามารถในการรีไซเคิล PET เทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยตรวจจับคาร์บอนที่เกิดจากการดำเนินงาน เพิ่มการบริโภคพลังงานหมุนเวียน และลดการใช้ถ่านหินเพื่อแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Scope 1) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Scope 2)
  IVL ทุ่ม 5 หมื่นล. ขยายกำลังผลิต รีไซเคิลขวดพลาสติกทั่วโลก

เป้าหมายของไอวีแอล คือ การลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% และเพิ่มการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็น 25% โดยเทียบจากปีฐาน พ.ศ.2563 ดังนั้น ต่อปีจะต้องมีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทั้งที่ผลิตในโรงงานและจัดหาจากภายนอกผ่านข้อตกลงการซื้อพลังงาน รวมถึงการนำเทคโนโลยีการกำจัดคาร์บอนใหม่ๆ และการดักจับคาร์บอน (carbon capture) มาปรับใช้นำเสนอวัตถุดิบเชิงชีวภาพในห่วงโซ่คุณค่าปิโตรเคมี และขยายกำลังการรีไซเคิล PET ซึ่งเป้าหมายต่างๆ เหล่านี้ ยังจะช่วยให้ลูกค้าและคู่ธุรกิจของบริษัทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของตนเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง science-based targets แบบเดียวกันนี้ 

ไอวีแอล เลือกใช้วัตถุดิบชีวภาพให้มากขึ้นตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าแบบบูรณาการ ปัจจุบัน วัตถุดิบกว่า 80% ที่ใช้มีโพลีเอสเตอร์เป็นส่วนผสม ซึ่งสามารถทดแทนได้ด้วยวัตถุดิบทดแทนหรือหมุนเวียนเชิงชีวภาพได้ และตั้งเป้าว่า หนึ่งในสามของส่วนผสมวัตถุดิบจะมาจากแหล่งที่ยั่งยืนภายในปี พ.ศ.2573 

  • ลดการใช้นํ้า 10% ปี 2568

ไอวีแอล ยังมุ่งมั่นที่จะลดอัตราการใช้นํ้าลง 10% ภายในปี 2568 และ 20% ภายในปี 2573 โดยได้พัฒนารายงานการประเมินความเสี่ยง ด้านนํ้านำเสนอความพยายามของบริษัทฯ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดการนํ้าอย่างยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals หรือ UN SDGs) 
 

สำหรับการพัฒนาด้านการกำกับดูแลกิจการ บริษัทฯ จัดให้มีช่องทางการร้องเรียน (whistleblower) พร้อมทั้งให้ความคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส และมีนโยบายเกี่ยวกับจริยธรรมทางธุรกิจและการต่อต้านการทุจริต ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโอกาสในเทคโนโลยีสะอาด ไอวีแอล อยู่ระหว่างการลงทุนในเทคโนโลยีการรีไซเคิลและวัตถุดิบตั้งต้นเชิงชีวมวล ภายใต้วิสัยทัศน์ 2030 และยังอยู่ระหว่างการลงทุนในการเพิ่มประสิทธิผลการดำเนินงาน เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน การใช้พลังงานทดแทน และการเลิกใช้ถ่านหิน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ Scope 2
 

ล่าสุด อินโดรามา เวนเจอร์ส ยังได้รับการยกระดับจาก “BBB” เป็น “A” ในการจัดอันดับด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environment, Social and Governance หรือ ESG) ของ MSCI ตอกยํ้าถึงการจัดการความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของบริษัทฯ อย่างมีประสิทธิภาพ
 

MSCI หรือ มอร์แกน สแตนลีย์ แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เชี่ยวชาญด้านการจัดทำดัชนีและบทวิเคราะห์อ้างอิงจากงานวิจัย ได้จัดอันดับให้อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือไอวีแอล เป็นหนึ่งใน 14% อันดับแรกของบริษัท 65 แห่งทั่วโลกในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์พื้นฐาน (commodity chemicals) โดยอินโดรามา เวนเจอร์ส มีผลการประเมินที่อยู่ในควอร์ไทล์สูดสุด (top quartile) ทั้งสิ้น 4 ด้าน ได้แก่ โอกาสในเทคโนโลยีสะอาด การจัดการนํ้า การกำกับดูแลกิจการ และพฤติกรรมองค์กร

IVL ทุ่ม 5 หมื่นล. ขยายกำลังผลิต รีไซเคิลขวดพลาสติกทั่วโลก

  • ขยายกำลังผลิตรีไซเคิล


นายยาช เล่าว่า เป้าหมายของเขาคือ การขยายกำลังผลิตให้ได้ 7.5 แสนตันต่อปี ภายในปี 2568 ด้วยงบลงทุนกว่า 1.5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือ ราว 4.9 หมื่นล้านบาท จากโรงงานรีไซเคิลที่มีอยู่ 20 แห่งทั่วโลก ครอบคลุมทุกภูมิภาค อาทิ เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ไทย และ ฟิลิปปินส์ นั่นหมายความว่า เขาจะสามารถรีไซเคิลขยะขวดพลาสติกได้ปีละ 5 หมื่นล้านขวด 
 

ปัจจุบันไอวีแอลได้รีไซเคิลขวดได้ครบ 9 หมื่นล้านขวดตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจรีไซเคิลในปี 2554 เทียบได้กับนํ้าหนักช้าง 2 แสนเชือกและลดการใช้นํ้ามันดิบได้ 3 ล้านบาเรล ลดปริมาณขยะพลาสติก 2 ล้านตันที่ต้องนำไปฝังกลบ
 

นายยาช ได้วางเป้าหมายธุรกิจ ที่จะขยายธุรกิจรีไซเคิลของเขาไปทั่วโลก เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และ ภาวะวิกฤติของสภาพอากาศทั่วโลก โดยรูปแบบธุรกิจ เป็นได้ทั้งการควบรวมและการซื้อกิจการ (M&A หรือ Mergers and Acquisitions) การลงทุนตั้งกิจการใหม่ (Green Field) หรือรูปแบบอื่นๆ เพื่อเดินหน้าสร้างโลก และธุรกิจให้มีความยั่งยืน
IVL ทุ่ม 5 หมื่นล. ขยายกำลังผลิต รีไซเคิลขวดพลาสติกทั่วโลก

ความท้าทายคือการหาขยะพลาสติกมาป้อนให้กับโรงงานให้ได้ ตามเป้าในขณะที่หลายประเทศห้ามการนำเข้าขยะพลาสติกเพราะฉะนั้น เขาต้องอาศัยเครือข่ายพาร์ทเนอร์จากหลายแหล่ง เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการผลิต
 

นายยาช ยังมีแผนงานในการเปลี่ยนพฤติกรรม โดยสอนให้คนรุ่นใหม่ในประเทศไทยแยกขยะอย่างถูกต้อง ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ต่อการแยกขยะและแนวทาง3Rs-ลดการใช้ (Reduce) ใช้ซํ้า (Reuse) และรีไซเคิล (Recycle)โดยตั้งเป้าหมายระยะยาว 30 ปี (2560-2590) ในการดำเนินโครงการ โดยปัจจุบันโครงการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการรีไซเคิลที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะขยายผลไปยังประเทศอื่นๆ ที่อินโดรามา เวนเจอร์ส มีโรงงาน 147 โรงงานใน 35 ประเทศ และมีโรงงานรีไซเคิล 20 แห่งทั่วโลก