รัฐบาลจ่อบังคับคนไทยประหยัดพลังงาน แทนขอความร่วมมือ หากราคา LNG พุ่ง

07 พ.ย. 2565 | 09:54 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2565 | 16:59 น.

กพช. ถกมาตรการประหยัดพลังงาน โดยรัฐบาลเล็งออกมาตรการบังคับคนไทยประหยัดพลังงานแทนขอความร่วมมือ หากราคา LNG พุ่งเกิน 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ ได้หารือถึงมาตรการประหยัดพลังงาน โดยได้พิจารณาแนวโน้มราคาพลังงานที่ยังคงมีราคาสูงอยู่ในขณะนี้อย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ในปัจจุบันได้มีการออกมาตรการประหยัดพลังงานไปแล้ว โดยเป็นมาตรการขอความร่วมมือเท่านั้น แต่ในช่วงต่อไปหากราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงมีราคาเพิ่มสุงขึ้น โดยเฉพาะถ้าราคาก๊าซ LNG ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นราคาที่ต้องใช้มาตรการประหยัดพลังงานภาคบังคับแล้ว ทั้งประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ

 

“หากราคาก๊าซ LNG เพิ่มสูงขึ้นเกิน 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู เป็นเวลา 2 อาทิตย์ มาตรการที่เคยขอความร่วมมือจะเป็นมาตรการที่จะต้องขอบังคับใช้ ซึ่งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็นำมาตรการต่าง ๆ ออกมาบังคับมาใช้ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานท่าเกี่ยวข้อเป็นผู้ดูแล”

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

สำหรับมาตรการที่จะออกมาบังคับใช้นั้น เบื้องต้นที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นผู้ประเมินสถานการณ์ และมาตรการอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรบ้าง เช่น 

  • การกำหนดเวลาเปิดปิดป้าย LED
  • การให้ห้างสรรพสินค้าปิดแอร์ก่อนปิดห้างเป็นเวลา 30 นาที - 1 ชั่วโมง 
  • การปรับเวลาเปิด-ปิด สำหรับธุรกิจที่มีการใช้พลังงานสูง
  • การพิจารณาปิดปั๊มน้ำมัน 
  • การพิจารณาปิดร้านสะดวกซื้อ

 

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน แถลงผลประชุม กพช.

 

นายกุลิศ กล่าวว่า มาตรการทั้งหมด จะทำอย่างเป็นขั้นตอน โดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะเป็นผู้ประเมินสถานการณ์ และพิจารณาว่ากิจการใดควรต้องังคับการประหยัดพลังงานบ่าง และเมื่อจะทำแล้ว ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ด้วย เพราะปัจจุบันนี้ ราคาก๊าซ LNG ก็ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 26-29 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียูแล้ว

พร้อมกันนี้ กพช. ยังเห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565 เช่น มาตรการตามแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 การจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศเพื่อนบ้าน และเร่งรัดการอนุมัติ/อนุญาตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะสามารถประมาณเทียบเท่าการลดการนำเข้า Spot LNG

 

อย่างไรก็ตามที่ประชุม กพช. ได้มอบหมายให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานฯ แต่ละมาตรการ เร่งดำเนินการในมาตรการ โดยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด 

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

 

ทั้งนี้ที่ประชุม กพช. ได้มอบหมายให้ สำนักงาน กกพ. ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยเปรียบเทียบราคา Spot LNG นำเข้ากับราคาเชื้อเพลิงและต้นทุนในแต่ละมาตรการ เพื่อนำมาพิจารณาในการที่จะคงการใช้มาตรการที่มีความคุ้มค่าและเลิกใช้มาตรการที่ไม่มีความคุ้มค่า โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ

 

หากสถานการณ์ราคาพลังงานเปลี่ยนแปลงไปอันจะส่งผลให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้มาตรการต่าง ๆ แล้ว ให้สำนักงาน กกพ. รายงานต่อคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน (คณะอนุกรรมการฯ) โดยเร็ว

 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยคณะอนุกรรมการฯ ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 – เดือนธันวาคม 2565 อย่างใกล้ชิด และรายงานต่อ กพช. ทราบต่อไป