นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานในปี 2566 ว่า เอ็กโก กรุ๊ป ยังคงแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่อย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “Cleaner, Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth” สอดคล้องกับเป้าหมายมุ่งสู่สังคมคาร์บอนตํ่า เพื่อให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ( carbon neutrality)ภายในปี 2593 ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ลง 10% ภายในปี 2573 จากฐานปี 2564
ภายใต้งบลงทุนช่วง 5 ปี (2566-2568) ราว 9 หมื่นล้านบาท หรือปีละ 30,000 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงดั้งเดิมในพื้นที่ที่มีฐานธุรกิจอยู่แล้ว โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนจากชีวมวล พลังงานนํ้า พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ และเซลล์เชื้อเพลิง เพิ่มเป็น 30% ภายในปี 2573 จากปัจจุบันมีสัดส่วนราว 22% หรือราว 1,424 เมกะวัตต์ ของกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 6,377 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ การขยายพอร์ตลงทุนพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ เอ็กโก กรุ๊ป ได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าโครงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) พ.ศ. 2565-2573 รวมปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 5,203 เมกะวัตต์ ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานราว 1 พันเมกะวัตต์ จากที่มีผู้เสนอปริมาณขายเข้ามา 52 โครงการ รวม 2,171 เมกะวัตต์ ซึ่งเชื่อว่าจะผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ได้ทั้งหมด เนื่องจากมีความพร้อมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ตั้ง การเชื่อมโยงระบบ เทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ และฐานะทางการเงิน
อีกทั้ง แสวงหาโอกาสในการลงทุนพลังงานสะอาด เช่น ไฮโดรเจน เนื่องจากตลาดมีการตื่นตัวมากขึ้นและมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีความผันผวนและกระแสการลดก๊าซเรือนกระจก ทำให้การพัฒนาไฮโดรเจนมีราคาถูกลง มีความสามารถในการแข่งขันกับโรงไฟฟ้าทั่วไปมากขึ้น ส่งผลให้เอ็กโก กรุ๊ปจะมุ่งไปสู่การลงทุนด้านไฮโดรเจนชัดเจนมากขึ้นซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินใจลงทุนในโครงการนำร่องผลิตไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้า “คลองหลวง” จ.ปทุมธานี กำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ ที่จะนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ป้อนให้กับลูกค้าที่มีความต้องการพลังงานสะอาด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ร่วมทุนอยู่คาดว่าในปี 2566 จะมีความชัดเจนมากขึ้น
นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป บริษัทในกลุ่ม กฟผ. ได้แก่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านพลังงานสะอาด กับกระทรวงการลงทุน แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อผนึกกำลังในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานดั้งเดิมไปสู่พลังงานสะอาด จะเป็นโอกาสหนึ่งที่เอ็กโก จะเข้าไปร่วมลงทุนไฮโดรเจนต่อไปได้ด้วย
นายเทพรัตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนการขยายพอร์ตลงทุนพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศนั้น จะขยายการลงทุนไปใน 7 ประเทศ ที่เอ็กโก กรุ๊ป ได้เข้าไปลงทุนไว้แล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ได้มีหุ้น17.46% ในบริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง แอลแอลซี (เอเพ็กซ์) ซึ่งมีโครงการพัฒนาพลังงานลมอยู่ราว 75 โครงการ รวมกำลังผลิต 29,233 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ 128 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิต 19,760 เมกะวัตต์ ที่จะทยอยการพัฒนา ซึ่งในปี 2566 พลังงานลมจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ 314 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ 444 เมกะวัตต์ และปี 2567 พัฒนา 14 โครงการ เป็นพลังงานลมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ 1,408 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ 1,170 เมกะวัตต์
อีกทั้ง การเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าการลงทุนในสหรัฐอเมริกา ด้วยการซื้อหุ้น 49% ในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ “ไรเซ็ก” กำลังผลิต 609 เมกะวัตต์ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญกับการนำพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดมากขึ้น ส่งผลให้โรงไฟฟ้าต่างๆ ต้องปรับตัวในอนาคตอันใกล้นี้ จะทำให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีจะต้องนำไฮโดรเจนมาใช้รองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดแทน และโรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังมีศักยภาพในการลงทุนเพิ่มกำลังผลิต ด้วยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย
ขณะที่แนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ที่เอ็กโก กรุ๊ป ถือหุ้นอยู่ 50 % ที่เป็นการดักจับคาร์บอนฯจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง วมถึงการศึกษาเพื่อนำแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมเป็นเชื้อเพลิงเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนด้วย