กกพ.ไฟเขียว "ลดค่าไฟ" เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วยงวด พ.ค.-ส.ค. 66

24 เม.ย. 2566 | 11:42 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2566 | 11:42 น.

กกพ.ไฟเขียว "ลดค่าไฟ" เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วยงวด พ.ค.-ส.ค. 66 ยืนตามขอเสนอของ กฟผ. ในการยืดชำระหนี้ ระบุไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง มั่นใจทันรอบบิลใหม่เดือน พ.ค. แน่นอน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่าที่ประชุม กกพ.มีมติปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) งวดใหม่ลงมาอยู่ที่ 91.19 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนสำหรับงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2566 ลดลง 7 สตางค์/หน่วย

ทั้งนี้ จากเดิมที่มีมติ 4.77 บาท/หน่วย เป็น 4.70 บาท/หน่วย ซึ่งถือเป็นการลดลง 2 สตางค์/หน่วย จากงวดปัจจุบันสำหรับเดือนม.ค.-เม.ย.2566 อยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เสนอ 

โดยไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง เนื่องจากสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณสูตรค่าเอฟทีไม่เปลี่ยนแปลงไปจากการพิจารณาก่อนหน้านี้ที่ กกพ.ได้เปิดให้สาธารณะชนแสดงความคิดเห็นไปแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไป กกพ. จะทำหนังสือแจ้งไปยัง 3 การไฟฟ้าเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และจะทันงวดบิลเดือนพ.ค.2566 แน่นอน

 

ส่วนค่าไฟงวดถัดไปในเดือนก.ย.-ธ.ค.2566 จะลดลงได้อีกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จะเป็นไปตามเป้าหมายช่วงปลายปีนี้อยู่ที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันหรือไม่ เพราะมีความเสี่ยงที่เป็นช่วงฤดูมรสุม 

กกพ.ไฟเขียวลดค่าไฟเหลือ 4.70 บาทต่อหน่วยงวด พ.ค.-ส.ค. 66 อีกทั้งช่วงปลายปีจะเป็นฤดูหนาวที่ปกติต่างประเทศจะมีความต้องการใช้เชื้อเพลิงสูง จึงมีความเป็นห่วงว่าปริมาณก๊าซจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ จากปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และเดือนก.ค.จะอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษก กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้เสนอเงื่อนไขขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้า วงเงินประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ที่รับภาระแทนประชาชนไปก่อน จากเดิม 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน แบ่งเป็น 7 งวด คาดว่าจะครบกำหนดชำระประมาณเดือนส.ค.2568 ทำให้เงินที่ กฟผ.ควรจะได้จากการคืนหนี้ก้อนแรกหายไปประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท จากเดิมประมาณ 22,000 ล้านบาท เหลือประมาณ 18,000 ล้านบาท และมีภาระดอกเบี้ยงวดละประมาณ 750 ล้านบาท

นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ดำเนินการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าเอฟที รวมเป็นวงเงินกว่า 110,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงวดแรก 25,000 ล้านบาท และทำการกู้เพิ่มตามนโยบายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 85,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน ขณะที่ล่าสุดกฟผ.ได้เสนอที่จะยืดหนี้ ส่งผลให้เงินที่นำมาชำระหนี้คืนค่าเอฟทีนั้นลดลง แต่ กฟผ. ยังได้ขอวงเงินในการกู้เพิ่มอีก 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระได้ในช่วงนี้ 

"งวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2566 กฟผ. ยังมีสภาพคล่องที่ดีอยู่ แต่งวดหน้าจะต้องมีการบริหารจัดการ รวมถึงต้องมีการหารือกันใหม่อีกครั้ง เนื่องจากต้องติดตามสถานการณ์ก๊าซและสภาพคล่อง ยอมรับว่ายังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามและมีผลต่อสมมติฐานในการคำนวณค่าเอฟทีงวดถัดไป แต่ปัจจุบันต้องดูแลกันไปก่อนให้ราคาค่าไฟนิ่งมากที่สุด"