เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) กับ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) และ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 ซึ่งการลงนามดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่อนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) เป็นผู้ได้รับสิทธิ์การเป็นผู้รับสัญญา PSC สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 และ G3/65 และบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิ์การเป็นผู้รับสัญญา PSC สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร
นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า การเพิ่มศักยภาพในการผลิตก๊าซธรรมชาติภายในประเทศ จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน โดยก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ จะมีราคาที่ถูกกว่าพลังงานที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งการสำรวจในพื้นที่ดังกล่าว เชื่อว่าจะพบจะพบปิโตรเลียมเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับแหล่งที่มีการผลิตอยู่ในปัจจุบัน
หลังจากนี้ไปเชฟรอนจะลงทุนสํารวจวัดคลื่นไหวสะเทือน หรือ Seismic Survey เพื่อศึกษาถึงโครงสร้างทางธรณีวิทยาหาความเป็นไปได้ที่จะพบปิโตรเลียมอย่างละเอียด และจะลงทุนเจาะสำรวจ 2 หลุม มีระยะเวลาดำเนินการภายใน 6 ปี
หากพบว่ามีศักยภาพที่จะผลิตขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ในแปลง G2/65 ได้ จะมีการลงทุนเพื่อพัฒนาเป็นหลุมผลิตต่อไป ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศในอนาคต และจะช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ ทำให้ราคาต้นทุนพลังงานภายในประเทศถูกลง
“การที่ประเทศไทยต้องการเดินหน้าไปสู่สังคมคาร์บอนตํ่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ การพัฒนาการผลิตก๊าซธรรมชาติ ถือว่าเป็นพลังงานที่จำเป็นต้องใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนเข้าไปสู่พลังงาน Renewable Energy ซึ่งบริษัท เชฟรอนมีนโยบายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นส่วนสำคัญในช่วยผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065 ตามที่ได้ประกาศไว้” นายชาทิตย์ กล่าว
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนฯ ได้ยืนยันการลงทุนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยด้วยว่า เชฟรอนยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทพลังงานที่ช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีแหล่งผลิตปิโตรเลียมอยู่ 2 แหล่งใหญ่ คือ แหล่งเบญจมาศ (B8/32) และแหล่งไพลิน (แปลง B12/27) ซึ่งนอกเหนือจากการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลง G2/65 นี้แล้ว เชฟรอนฯยังได้ยื่นขอต่อระยะเวลาการผลิตของแปลง B12/27 หรือแหล่งไพลิน กำลังผลิตก๊าซฯ ราววันละ 430 ล้านลูกบาศก์ฟุต ที่จะหมดอายุสัญญาในปี 2571 ต่อระยะเวลาไปอีก 10 ปี ถึงปี 2581 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิตปิโตรเลียม หากได้รับความเห็นชอบจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก็มีแผนที่จะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นในแหล่งดังกล่าว
สำหรับโอกาสในการแสวงหาปิโตรเลียมแหล่งใหม่ที่มีศักยภาพเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในประเทศในระยะยาวนั้นเห็นว่ารัฐบาลใหม่ ควรเร่งเดินหน้าเจรจาความร่วมมือพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา (OCA) โดยเร็ว ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางพลังงานของทั้ง 2 ประเทศ ช่วยเพิ่มศักยภาพการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะก๊าซแอลเอ็นจีที่มีราคาสูง
“หวังให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งดำเนินการเจรจากับรัฐบาลประเทศกัมพูชาในการผลักดันพัฒนาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claimed Area-OCA) และหาแนวทางร่วมกันพัฒนาพื้นที่ OCA เพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติร่วมกัน โดยหากได้ข้อยุติที่สามารถเริ่มเข้าไปดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ได้ ทางเชฟรอน ซึ่งมีใบอนุญาตในการสำรวจ (License) อยู่ในแปลงของพื้นที่ OCA อยู่แล้ว ก็พร้อมที่จะดำเนินการ” นายชาทิตย์ กล่าว
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3896 วันที่ 15 – 17 มิถุนายน พ.ศ. 2566