"ส.อ.ท." จี้ลดค่าไฟงวดปลายปีเหลือ 4.25 บาทต่อหน่วย

29 มิ.ย. 2566 | 02:09 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2566 | 03:51 น.

"ส.อ.ท." จี้ลดค่าไฟงวดปลายปีเหลือ 4.25 บาทต่อหน่วย ชี้ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยสูงขึ้น หลังหลุมเอราวัณทยอยเพิ่มจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี  

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าไฟงวด 3 หรืองวดสุดท้ายของปี 2566 (กันยายน-ธันวาคม) ว่า ค่าไฟฟ้างวด 3 ของปีควรลดลงกว่า 10% จากงวด 2(พฤษภาคม-สิงหาคม) หรือไม่เกิน 4.25 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 4.70 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ค่าไฟงวด 3 ลดลงมาจาก 5 ปัจจัย ประกอบด้วย  

  • ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยสูงขึ้น เนื่องจากหลุมเอราวัณทยอยเพิ่มจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี 
  • ปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)นำเข้าลดลง 
  • ราคาแอลเอ็นจีสปอต(ตลาดจร) ลดลงมากกว่า 30% ราคาไม่เกิน 14 เหรียญสหรัฐต่อล้านลูกบาศก์ฟุต จาก 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านลูกบาศก์ฟุต 
  • ราคาพลังงานโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
  • หนี้ของการไฟฟัาฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ทั้งงวด 1 ปีนี้(มกราคม-เมษายน) และงวด 2 ปีนี้ ลดลงเร็วกว่าแผนเพราะต้นทุนจริงของแอลเอ็นจีต่ำกว่าที่เรียกเก็บค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที)

ส่วนปัจจัยลบค่าไฟ มีแค่เรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ดังนั้นสิ่งที่เอกชนและ ประชาชนอยากเห็นในการบริหารค่าไฟฟ้าที่ยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้งด้วยภาระค่าเอฟที เป็นระบบคอสพลัสผลักเป็นภาระผู้บริโภค ดังนั้น ภาครัฐในทุกระดับควรมีแนวทางบริหารจัดการ ได้แก่ 

  • ฝั่งนโยบาย ควรให้แนวทางบริหารที่เหมาะสม ในแต่ละสถานการณ์ อาทิ การแก้ปัญหาโอเวอร์ซัพพลายโรงไฟฟ้า , ปลดล็อคด้านกฎระเบียบ โดยเฉพาะโซลาร์และการเร่งจัดหาแอลเอ็นจีก่อนหน้าหนาวในยุโรป
     
  • ฝั่งผู้ควบคุม ควรประสานผู้เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง และเปิดเผยข้อมูล อาทิ สมมุติฐาน ต้นทุนต่างๆในการคำนวณเอฟที รวมทั้งพิจารณาการคาดการ์ต้นทุนที่เร็วกว่ารอตามงวด 4 เดือน
  • ฝั่งผู้ปฏิบัติการ ควรมีส่วนร่วมบริหารแบบทีมเดียวกัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านพลังงาน ค่าไฟฟ้าของประเทศให้ดีที่สุด รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบตามหลักธรรมาภิบาล