บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของไทย ดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ 4E โดย Expanding มุ่งเน้นการเติบโตในธุรกิจหลักของบริษัทฯ ด้วยการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ด้วยวิธีการพัฒนาโครงการตั้งแต่แรกเริ่ม และการเข้าซื้อกิจการโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว Extending ขยายธุรกิจเพื่อรองรับทิศทางของธุรกิจพลังงานในอนาคต Enhancing พัฒนาและเพิ่มศักยภาพโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และ Evaluating บริหารสินทรัพย์ด้วยการติดตามผลการดำเนินงานอย่างสมํ่าเสมอ และพิจารณาบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนเพื่อได้รับผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจ
จากกลยุทธ์ดังกล่าว ทำให้บีซีพีจี เร่งขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติควบคู่กับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานทั้งในและต่างประเทศ เห็นได้จากช่วงครึ่งปี 2566 บีซีจีพี ได้ขยายพอร์ตการลงทุนในการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น
นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้งบลงทุนสำหรับการซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติไปแล้วประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท เน้นโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยต้นปีที่ผ่านมาได้เข้าซื้อหุ้น AP-BCPG CCE Partners LLC (AP-BCPG CCE) ในสัดส่วน 49% ของหุ้นทั้งหมด จาก APCCH โดย AP-BCPG CCE ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 17.76% ในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Carroll County Energy LLC (CCE) ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 700 เมกะวัตต์ตั้งอยู่ที่เขตแครอล รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา การลงทุนดังกล่าวคิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ 60.92 เมกะวัตต์
การซื้อหุ้น AP-BCPG SFE Partners LLC (AP-BCPG SFE) ในสัดส่วน 49% ของหุ้นทั้งหมด จาก APSFH โดย AP-BCPG SFE ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 15.55% ในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ South Field Energy LLC (SFE) มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,182 เมกะวัตต์ตั้งอยู่ที่เขตโคลัมเบียนา รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา การลงทุนดังกล่าวคิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ 90.06 เมกะวัตต์
ทั้ง 2 โครงการนี้ คิดเป็นมูลค่าลงทุนราว 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐสหรัฐ หรือราว 3,972.221 ล้านบาทรวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 150.98 เมกะวัตต์
นายนิวัติ กล่าวอีกว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 บริษัท ได้รับโอนหุ้นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจำนวน 2 โครงการในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา จากบริษัท แฟรงคลิน พาวเวอร์ โฮลดิ้ง เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ฮามิลตั้น ลิเบอร์ตี้ (ลิเบอร์ตี้) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 848 เมกะวัตต์ โดยบริษัท ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 25 % คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนเทียบเท่ากับ 212 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ฮามิลตั้น เพทรีออต (เพทรีออต) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 857 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 25% คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนเทียบเท่ากับ 214 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุนราว 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8,919 ล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 426 เมกะวัตต์
สำหรับโรงไฟฟ้า 2 โครงการหลังดังกล่าว มีความได้เปรียบสูงในการแข่งขันเพื่อประมูลขายไฟฟ้าในตลาดไฟฟ้าเสรี PJM ตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา และครอบคลุมการขายไฟฟ้ากว่า 13 รัฐ เป็นตลาดที่มีความต้องการการใช้ไฟฟ้าสูง และมีต้นทุนการผลิตตํ่า เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติอื่น ๆ เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติที่ใช้เทคโนโลยี พลังงานความร้อนร่วม Combined Cycle Gas Turbines หรือ CCGT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กังหันก๊าซและกังหันไอนํ้าร่วมกันเพื่อผลิตไฟฟ้า ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงตํ่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อีกทั้ง ทำเลที่ตั้งของโรงไฟฟ้าอยู่ใกล้แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ (Marcellus Shale Gas) ทำให้เข้าถึงก๊าซธรรมชาติได้ในราคาตํ่ากว่าภูมิภาคอื่นของประเทศ
จากการเข้าซื้อหุ้นทั้ง 4 โครงการ ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้วรวม 577 เมกะวัตต์
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3905 วันที่ 16-19 กรกฎาคม พ.ศ. 2566