ราคาน้ำมันในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร คงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบที่ทุกคนต้องการรู้
เนื่องจากน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซลถือเป็นสินค้าที่จำเป็น โดยที่ปัจจุบันราคาน้ำมันเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และส่งผลกระทบไปยังหลายอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปพบคำตอบเรื่องแนวโน้มราคาน้ำมันเบนซิน-ดีเซลในระยะต่อไป
ล่าสุดนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า
ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง ซึ่งนักลงทุนคาดการณ์ว่า จีนมีแนวโน้มความต้องการใช้เชื้อเพลิงสูงขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ประกอบกับสัญญาณความต้องการใช้มันดิบดึงตัวจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส นำโดยซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย
โดยซาอุฯ ได้ขยายเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วัน ไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2566 และประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบที่ส่งมายังคู่ค้าในเอเชีย ขณะที่รัสเซียได้ลดการส่งออกน้ำมันกว่า 500,000 บาร์เรล/วัน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 จนถึงสิ้นปี ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันในตลาดลดลงกว่า 1.5% อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ยังคงชะลออุปสงค์น้ำมันโลกโดยรวม
สำหรับภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก (วันที่ 17 - 23 กรกฎาคม 2566) ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์ เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 80.57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 75.68 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 0.46 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ดี จากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ใกล้จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ หลังสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยยอดค้าปลีกเดือนมิถุนายน 2566 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5%
ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศลดลง 0.5% อีกทั้งตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวจากการปรับลดกลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส รวมถึงความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมไปถึงจีนนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียในเดือนมิถุนายน 2566 กว่า 10.5 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 44% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับความคาดหวังว่าจีนจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ครอบคลุมถึงการฟื้นฟูอุปสงค์และการบริโภคภายในประเทศ
นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชียนั้น ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 100.91เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 95.15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 97.95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 4.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 4.26 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 4.78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
โดย International Enterprise Singapore (IES) ได้รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ลดลง 0.86 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.18 ล้านบาร์เรล ด้าน Petroleum Association of Japan (PAJ) ได้รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 15 กรกฎาคม 2566 ลดลง 0.26 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9.42 ล้านบาร์เรล ส่วนสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ได้รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้น 99,000 บาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ 8.86 ล้านบาร์เรล/วัน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ 1.4%
ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 101.23 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.59 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดย International Enterprise Singapore (IES) ได้รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ลดลง 0.02 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 7.85 ล้านบาร์เรล และ Joint Organizations Data Initiative (JODI) ได้รายงานปริมาณการส่งออกซาอุดีอาระเบีย ในเดือนพฤษภาคม 2566 ลดลง 20.2% มาอยู่ที่ 632,000 บาร์เรล/วัน
นายวัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.58 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 34.4056 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ทำให้ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.55 บาท/ลิตร และต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลง 0.02 บาท/ลิตร ส่งผลต่อค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของน้ำมันกลุ่มเบนซิน และน้ำมันดีเซล อยู่ที่ระดับ 2.44 บาท/ลิตร
"ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2566 กองทุนน้ำมันฯ มีสินทรัพย์รวม 42,632 ล้านบาท หนี้สินกองทุนฯ 93,070 ล้านบาท แบ่งเป็นติดลบจากบัญชีน้ำมัน 5,323 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG 45,115 ล้านบาท"