ผู้เชี่ยวชาญพลังงานชี้ "เปิดเสรีนำเข้าน้ำมัน" ไม่ช่วยแก้ราคาน้ำมันแพง

08 ก.ย. 2566 | 03:42 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2566 | 03:42 น.

ผู้เชี่ยวชาญพลังงานชี้ "เปิดเสรีนำเข้าน้ำมัน" ไม่ช่วยแก้ราคาน้ำมันแพง หลัง รมว. พลังงานประกาศนโยบาย ระบุชัดเจนผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 และ 10 นำเข้าน้ำมันได้อย่างเสรีเป็นเรื่องปกติ

"เปิดเสรีนำเข้าน้ำมัน" ประะเด็นที่กำลังได้รับความสนใจ และมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง หลังจากที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศออกมา โดยมุ่งหวังให้เป็นหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง 

ซึ่งจากคำพูดของนายพีระพันธุ์ ก็คือ มองว่าควรจะให้โอกาสเสรีในการหาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ไม่ใช่การนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่นจนทำให้มีต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่ควบคุมลำบาก แต่หากเป็นการนำน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ต้องมีค่าการกลั่น หรือค่าใช้จ่ายอื่น เพราะราคาทุกอย่างคำนวณจบแล้ว หากผู้ใดที่สามารถนำพลังงานราคาถูกเข้ามาได้ ก็ควรเปิดโอกาสให้ทำได้ โดยภาครัฐควรจะเป็นผู้กำกับดูแลให้การจัดหาพลังงานเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว ไม่ใช่วางกฎกติกาจนทำไม่ได้ 

อย่างไรก็ดี ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ปัจจุบันผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง 2543 สามารถนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปได้อยู่แล้ว ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องสำรองน้ำมันต่างหากด้วย มีคลังรองรับเพื่อความมั่นคง ถือเป็นต้นทุนอีกทางหนึ่ง

ประเด็นดังกล่าวนี้ได้รับคำยืนยันชัดเจนจากทั้งแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน และผู้ประกอบการธุรกิจน้ำมัน

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น "ฐานเศรษฐกิจ" จึงถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ "ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์" นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันดังกล่าว โดยได้รับคำตอบว่า  

ผู้เชี่ยวชาญพลังงานงงเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันทำไม แก้ราคาแพงยังไง

ตามปกติการนำเข้าน้ำมันก็เป็นอย่างเสรีอยู่แล้ว ไม่มีช้อห้าม ไม่มีเงื่อนไข และไม่มีโควต้าจำกัด สำหรับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 และมาตรา 10  (รายย่อย) ไม่มีโควต้า

ส่วนการที่จะต้องมีการสำรองน้ำมันก็ถือว่าเป็เนรื่องที่ปกติ

"ตนก็ยังงงอยู่ว่าการเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันจะช่วยแก้ปัญหาน้ำมันแพงได้อย่างไร เพราะปัจจุบันก็เปิดให้นำเข้าเสรีอยู่แล้วมทุกสเปคน้ำมัน ไม่ต้องขออนุญาติ  เพียงแต่จะต้องแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทราบเท่านั้น เพื่อทำเป็นสถิติ" 

สำหรับตนมองว่าเวลานี้ไม่รู้เลยว่าฝ่ายใดที่กำลังเข้าใจผิด เพราะผู้ค้าน้ำมันเองก็เข้าใจเรื่องการนำเข้าน้ำมันแบบนั้น  

อย่างไรก็ดี หากถามว่าผู้ใดที่จะได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว คงตอบยากเพราะก็ปฏิบัติกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด

ยกเว้นก๊าซหุงต้มที่ต้องมีการขออนุญาติ ซึ่งควบคุมมานาน เนื่องจากมีการชดเชยข้ามแหล่ง  เพราะมาจากหลายแหล่ง เช่น โรงแยกก๊าซ  โรงกลั่นของ ปตท. หรือนำเข้าก็ได้  ซึ่งต้องนำมาบริหารจัดการเรื่องเงินชดเชย  หรือเงินอุดหนุน  ซึ่งปัจจุบันอุดหนุนอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะมาจากแหล่งที่แตกต่างกัน  ต้นทุนจึงไม่เท่ากัน