ลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยคือมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 66 ที่ผ่านมาโดยเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ
โดยเป็นการปรับลดลงหลังจากที่การประชุม ครม. สัปดาห์ก่อนเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 66 เพิ่งอนุมัติเห็นชอบลดลงมาอยู่ที่ราคา 4.10 บาทต่อหน่วย จากเดิมที่ตามปกติจะต้องจ่ายที่ 4.45 บาทต่อหน่วยในรอบบิล ก.ย.-ธ.ค.66 จากการเรียกเก็บค่าค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัต หรือค่าเอฟที (ค่า FT) จำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามที่คณะกรรมการกำกับนโยบายพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศให้มีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ ค่าไฟ 4.45 บาทต่อหน่วยดังกล่าว ประกาศก่อนที่รัฐบาลใหม่ภายใต้นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "เศรษฐา ทวีสิน" โดยมีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ชื่อ "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" จะเข้ามารับตำแหน่ง
ประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจนอกเหนือไปจากการลดค่าไฟลงมาจนเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยดังกล่าวก็คือ เหตุใดรัฐบาลใหม่ถึงสามารถทำได้ ทั้งที่รัฐบาลชุดเก่าไม่สามารถทำได้
ก่อนหน้านี้นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงานกกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ยืนยันหนักแน่นว่า ค่าไฟงวดสุดท้ายของปีนี้ ( ก.ย.-ธ.ค.66) จะต้องจ่ายที่ 4.45 บาทต่อหน่วยตั้งแต่รอบบิลเดือน ก.ย.นี้ ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้อีกโดยเฉพาะตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ต้องการขอให้เฉลี่ยเหลือเป็น 4.25 บาทต่อหน่วย
โดยเป็นการพิจารณาหลังการเปิดรับฟังความเห็นไปแล้วใน 3 แนวทางและสุดท้ายเลือกแนวทางค่า Ft เรียกเก็บที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลดลงจากงวดปัจจุบัน (พ.ค.- ส.ค.2566) จาก 4.70 บาทต่อหน่วย เหลืออยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย
“การจะลดค่าไฟฟ้าในช่วงงวดสุดท้ายของปีนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากต้องมีกระบวนการคำนวณสูตรค่าไฟฟ้าใหม่ ต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการพิจารณาต้นทุนที่เกี่ยวข้องทั้งของทางบมจ.ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)”
นายคมกฤช ระบุด้วยว่า หากจะปรับลดค่าไฟลงมาเป็น 4.25 บาทต่อหน่วยนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลมีงบประมาณบางส่วนมาสนับสนุนเพราะ กกพ.เองไม่มีงบประมาณแต่ใช้วิธีการบริหารต้นทุนที่มีอยู่ในโครงสร้างมาบริหารแทนเพื่อให้เป็นภาระกับประชาชนน้อยที่สุดเท่านั้น ดังนั้นหากจะลดลงในอัตราดังกล่าวจะต้องใช้เงินงบประมาณราว 1-1.2 หมื่น ล้านบาท หรือคิดง่ายๆ ว่าจะลดให้ได้ทุก 1 สตางค์จะต้องใช้เงินราว 500- 600 ล้านบาทแต่คงจะไม่สามารถดำเนินการได้เพราะต้องรอรัฐบาลใหม่จึงไม่ทันในงวดนี้
ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ซึ่งให้ความเห็นขณะที่เป็นผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า ข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ต้องการให้ค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.66 อยู่ที่ระดับ 4.25 บาทต่อหน่วยนั้น คงเป็นไม่ได้ ด้วยแนวทางสำคัญคือการยืดหนี้ กฟผ.110,000 ล้านบาท ออกไปจาก 5 งวดไปเป็น 6 งวด หรือสิ้นสุดภายในเม.ย. 2568 เนื่องจากจะกระทบต่อกระแสเงินสดหรือสภาพคล่องของกฟผ.และกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต เรทติ้ง) ของกฟผ.ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการลงทุนในอนาคตสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลสั่ง กกพ. ก็คงต้องปฏิบัติตาม โดยล่าสุดแหล่งข่าวจาก กกพ. ระบุว่า ข้อสั่งการ ครม.ว่าอย่างไร กกพ.ก็พร้อมปฏิบัติทันที ซึ่งเบื้องต้นยังไม่เห็นรายละเอียดที่ครม.มีมติเห็นชอบให้ปรับลดค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2566 ลงมาอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ลดลงอีก 11 สตางค์ต่อหน่วย จากสัปดาห์ก่อนให้เก็บในอัตรา 4.10 บาท
โดยเป็นการปรับลดลงรวมทั้งสิ้น 46 สตางค์ต่อหน่วย จากมติของ กกพ.ที่ปัจจุบันเรียกเก็บในอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ดังนั้น จึงต้องขอดูรายละเอียดในข้อสั่งการทั้งหมดของ ครม.ก่อน
“ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดในข้อสั่งการของครม.ว่าออกมาอย่างไร เช่น จะให้ยืดหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) หรือไม่ หรือจะบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างไร เป็นต้น"
ทั้งนี้ หากมีรายละเอียดในข้อสั่งการ ครม. ที่ชัดเจน หลังจากนั้น กกพ.จะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด กกพ. ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะทันกำหนดการประชุมวันที่ 20 ก.ย.นี้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม กกพ. ยืนยันว่าวันนี้ (20 ก.ย.) จะมีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระหว่างรอแจ้งมติจาก ครม. อย่างเป็นทางการ
สำหรับแนวทางที่จะใช้ดำเนินการนั้น กกพ. เคยระบุว่า หากคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งหมดพบว่าค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีจะอยู่ที่ระดับ 4.10 บาทต่อหน่วย จากราคาที่ประกาศ 4.45 บาทต่อหน่วย
หากรัฐเจรจากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชะลอคืนหนี้ 1.1 แสนล้านบาทออกไป จะทำให้ค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายนถึงธันวาคมนี้ ลงมาอยู่ที่ 4.10-4.20 บาทต่อหน่วยได้
แต่หากชะลอหนี้ไม่ได้ รัฐต้องใช้งบประมาณเข้ามาอุดหนุนอย่างน้อย 15,000 ล้านบาท จะลดค่าไฟเหลือ 4.25 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้ อีกแนวทางหนึ่งก็คือรัฐบาลจัดงบประมาณอุดหนุนค่าไฟฟ้า โดยการทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง 1 สตางค์ ต้องใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.ยืดเวลาการรับชำระหนี้จากเดิมชำระคืน 6 งวดเอฟที เป็น 7 งวดเอฟทีมาแล้ว โดยปัจจุบัน กฟผ.ยังคงแบกภาระค่าเอฟทีราว 1.3 แสนล้านบาท ถ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 ได้คืนปกติจะเหลือประมาณ 1.1 แสนล้านบาท
สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะเลือกแนวทางไหนในการดำเนินการเพื่อให้ค่าไฟลดเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
สำหรับค่าไฟของปี 66 ที่ผ่านมาตามมติ กกพ. ประกอบด้วย