ย้อนรอย 22 ปี เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา" 7 นายกฯ 11 รมต.บัวแก้ว

29 ก.ย. 2566 | 02:34 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2566 | 02:45 น.

ส่องรายชื่อ "นายกรัฐมนตรี" เจรจา "พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา" ไม่สำเร็จ หลังยืดเยื้อมาตั้งแต่ประเทศไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ซึ่งไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกันเมื่อปี 2544

พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas – OCA) มีการเจรจาที่ยืดเยื้อมานานหลายปี นับตั้งแต่ประเทศไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ซึ่งไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกันเมื่อปี 2544 ถึงปัจจุบันเวลาผ่านไปแล้ว 22 ปี 

โดยปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าของการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน OCA ดังกล่าวแต่อย่างใด แม้จะผ่านการเปลี่ยนผู้นำของประเทศมาหลายคน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับรายชื่อของนายกรัฐมนตรีที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ OCA ดังกล่าว พบว่า ประกอบด้วย
 

รายชื่อนายกรัฐมนตรี

  • นายทักษิณ ชินวัตร 
  • พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ 
  • นายสมัคร สุนทรเวช 
  • นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 
  • นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ
  • นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 
  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

และล่าสุดนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย นายเศรษฐา ทวีสิน

โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศมาแล้ว 11 คน ซึ่งไทยและกัมพูชาได้ประชุมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee—JTC) เพื่อหารือเรื่องเขตทับซ้อนไปเพียง 2 ครั้ง คณะอนุกรรมาธิการร่วมทางเทคนิคอีก 2 ครั้ง คณะกรรมการร่วมทางเทคนิคหารืออย่างไม่เป็นทางการ 4 ครั้ง ประชุมคณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชาว่าด้วยการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล 1 ครั้ง และมีการประชุมคณะทำงานว่าด้วยระบอบพัฒนาร่วม 6 ครั้ง แต่ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นชิ้นเป็นอัน

เจรจา 2 ส่วน

สำหรับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมีพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร แบ่งการเจรจา เป็น 2 ส่วน ได้แก่ 

  • พื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ต้องหาข้อสรุปเขตแดนทางทะเล 10,000 ตารางกิโลเมตร ให้ชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนนี้กัมพูชาขีดเส้นผ่านเกาะกูด จ.ตราด
  • พื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมี เป้าหมายทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน (JDA) ร่วมกับมาเลเซีย

ส่วนผู้ได้รับสัมปทานพื้นที่ทับซ้อนจากรัฐบาลไทยเมื่อปี 2511 แบ่งเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย

  • แปลง B5 และ B6 คือ Idemitsu Oil เป็นผู้ดำเนินงานหลัก (Operator) ถือสัดส่วน 50% และพันธมิตรมี Chevron E&P สัดส่วน 20% ,Chevron Blocks 5 and 6 สัดส่วน 10% ,Mitsui Oil Exploration Co.Ltd. สัดส่วน 20%
  • แปลง B7,B8 และ B9 คือ British Gas Asia เป็นผู้ดำเนินงานหลักถือสัดส่วน 50% และพันธมิตร คือ Chevron Overseas สัดส่วน 33.33% และ Petroleum Resources สัดส่วน 16.67%
  • แปลง B10 และ B11 คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 60% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 40%
  • แปลง B12 และ B13 (บางส่วน) คือ Chevron Thailand E&P เป็น ผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 80% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 20%
  • แปลง G9/43 และ B14 ผู้รับสิทธิ คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.