คำต่อคำคนพลังงานยันไม่ควรคุมค่าการตลาดน้ำมันทุกชนิดไม่เกิน2 บาท

06 ต.ค. 2566 | 02:39 น.

คำต่อคำคนพลังงานยันไม่ควรคุมค่าการตลาดน้ำมันทุกชนิดไม่เกิน2 บาท ชี้ประเทศไทยมีการควบคุม อย่ามองแยกเป็นรายผลิตภัณฑ์ แนะรัฐบาลและผู้ค้าน้ำมันต้องหารือร่วมกัน กำหนดสูตรการคำนวณที่ชัดเจน

"ค่าการตลาด" ประเด็นร้อนทางด้านพลังงาน จากการที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีแนวคิดแก้ไขกฎหมาย เพื่อกำหนด ค่าการตลาดราคาน้ำมันทุกชนิดไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามจะมีการเพิ่มบทลงโทษหลังจากที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเคยขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ในการกำหนดค่าตลาดที่มันเกิน 2 บาท แต่บางรายกลับมีค่าการตลาดสูงถึง 4 บาทต่อลิตร เพราะมองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยแพง

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์แหล่งช่าวผู้ที่อยู่ในวงการพลังงาน เกี่ยวกับนโยบายการคุมค่าการตลาดราคาน้ำมันทุกชนิดไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร

ยันค่าการตลาดมีการควบคุม

แหล่งข่าวระบุชัดเจนว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการควบคุมค่าการตลาดอยู่แล้ว เพียงแต่ตัวเลขค่าการตลาดที่ส่วนใหญ่มองกันจะเป็นแบบรายผลิตภัณฑ์ ทำให้เห็นว่ามีราคาที่สูง เช่น น้ำมันเบนวิน 95 ซึ่งมีค่าการตลาดอยู่ที่ประมาณ 3 บาทกว่าต่อลิตร 

แต่ในความเป็นจริงแล้วการดูค่าการตลาดจะต้องดูทุกผลิตภัณฑ์ รวมถึงน้ำมันดีเซลด้วย เพื่อนำมาเฉลี่ยกัน เนื่องจากน้ำมันดีเซลมีปริมาณการใช้มากถถึง 60 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 60% ของากรใช้งานทั้งหมดในประเทศ ส่วนน้ำมันเบนซินอยูที่ประมาณ 30% โดยเมื่อนำมาเฉลี่ยจะพบว่าค่าการตลาดจะอยู่ที่ประมาณ 2-2.40 บาทต่อลิตรเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เยอะมาก

อย่างไรก็ดี หากถามว่าค่าการตลาดปัจจุบันสูงหรือไม่ ก็ต้องถือว่าสูงเพราะมากกว่าลิตรละ 2 บาท โดยจากผลการวิจัยก็พบว่าหากต่ำกว่าราคาดังกล่าวนี้ผู้ค้าน้ำมันก็อาจไม่สามารถทำธุรกิจได้ เพราะราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่ไม่ถึงขนาดราคา 3 บาทอย่างแน่นอน

ไม่ควรลดค่าการตลาด

แหล่งข่าวระบุอีกว่า หากมีการลดค่าการตลาดลงอีก ผู้ค้าน้ำมันก็คงจะลำบาก หากคิดแต่ว่าจะกดราคาค่าการตลาดให้ต่ำลงมาอย่างเดียว โดยที่ไม่ทำอะไรเลยในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ซึ่งต้องมาหารือกันให้ชัดเจนไปเลยว่า ส่วนไหนที่จะสามารถลดต้นทุน หรือเพิ่มส่วนใดให้กับผู้ค้าน้ำมันได้บ้างก็ควรที่จะต้องหารือกัน

คำต่อคำคนพลังงานยันไม่ควรคุมค่าการตลาดน้ำมันทุกชนิดไม่เกิน2 บาท

"การจะไปหักคอลดค่าการตลาดเลย มองว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก เพราะทุกวันนี้ผู้ค้าน้ำมันเองก็ไม่ใช่ว่าจะได้ค่าการตลาดที่ 3 บาทต่อลิตร ถึงจะมากกว่า 2 บาทต่อลิตรก็ตาม แต่บางเวลาก็อยู่ที่ 2 บาท"

อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าโรงกลั่นน้ำมันแต่ละแห่งมีต้นุทนไม่เท่ากัน บางครั้งเราอาศัยจากราคาน้ำมันดิบทุกแหล่งมาเฉลี่ย โดยผู้ค้าน้ำมันอาจจะซื้อแพงกว่า หรือถูกกว่าก็ไม่อาจทราบได้ เพราะต้นทุนไม่พึงเปิดเผยได้

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีราคากลางเกิดขึ้น โดยเปรียบเสมือนการซื้อของ เช่น ซื้อทอง 1 บาทอาจจะมีการประกาศราคาอยู่ที่ 31,000-32,000 บาท แต่ในความเป็นจริงอาจจะซื้อใสนราคา 35,000 บาทก็ได้ ซึ่งมากกว่าราคาที่ประกาศ

"บางครั้งการซื้อขาย อาจจะมีราคาที่แพงกว่า หรือถูกกว่าราคาที่ประกาศได้ หากมีศักยภาพในการซื้อ ซึ่งไม่แตกต่างจากราคาน้ำมัน เพราะฉะนั้นจะทำให้ทุกรายมีค่าการตลาดเท่ากันทั้งหมดแบบตายตัวไม่ได้"

สูตรคำนวณไม่เหมือนกัน

แหล่งข่าว บอกอีกว่า นโยบายของนายพีระพันธุ์เองก็ไม่ได้ระบุว่าจะกดราคาค่าการตลาดลงมาให้เหลือ 2 บาท เพียงแต่นายพีระพันธุ์มองไปที่มติแล้วเห็นว่าค่าการตลาดเกิน 2 บาท โดยคำพูดของนายพีระพันธุ์ก็คือ หากค่าตลาดที่ระดับ 2 บาทไม่สามารถทำธุรกิจได้ ก็ต้องไปหาวิธีมาแก้ไขกัน เพราะคาคา 2 บาทถูกกำหนดมาตั้งแต่ 2  ปีที่ผ่านมา 

ขณะที่การคิดราคาค่าการตลาดบางผลิตภัรฑ์อาจจะไม่ตรงกันระหว่างผู้ค้าน้ำมัน กับรัฐบาล เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะต้องมาหารือกัน

"ในความคิดของนายพีระพันธุ์ก็คือเมื่อค่าการตลาดถูกกำหนดให้ไม่เกิน 2 บาทก็ควรจะเป็นแบบนั้น ต้องไม่เกินไปกว่าระดับราคานี้ตามกฎระเบียบ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะนายพีระพันธุ์เป็นนักกฎหมายด้วยส่วนหนึ่ง"

ทำได้แต่ต้องหารือร่วมกัน

หากถามว่านโยบายควบคุมค่าการคลาดให้อยู่ที่ระดับ 2 บาททำได้หรือไม่ แหล่งข่าว ระบุว่า สามารภทำได้ แต่หากทำแล้วจะได้ราคาค่าการตลาด 2 บาทหรือไม่ ก็ไม่อาจทราบได้

แต่คำว่าทำได้ในความหมายของตนก็คือ 1.ต้องมีการเจรจากันระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะเจ้าภาพกับผู้ค้าน้ำมัน โดยระบุให้ชัดเจนไปเลยว่า  สนพ.ใช้ราคาคำนวณจากราคาน้ำมันดิบทุกแหล่งมาเฉลี่ย หากจะสูงหรือต่ำกว่านี้ก็ขึ้นอยู่กับราคาของแต่ละโรงกลั่น ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องเข้าใจ หรือมีความคิดเห็นตรงกัน  เพราะในเมื่อระบุว่าต้นทุนคือความลับก็ไม่ต้องไปดูที่จุดดังกล่าว

2.สิ่งที่จะต้องนำมาคำนวณมีอะไรบ้าง ก็ต้องนำมาหารือร่วมกัน เพราะบางโรงกลั่นอาจจะไม่ได้นำน้ำมันบางชนิดเข้ามาแล้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องนำมาคำนวณหาค่าให้ตรงกัน หรือถูกต้อง นำมาบูรณาการร่วมกันเกี่ยวกับแนวคิดในการคำนวณให้เสร็จ เช่น เบนซินจะใช้สูตรแบบไหนคำนวณก็ต้องใช้ให้เหมือนกัน

"เมื่อมาหารือร่วมกันทุกอย่างก็จะเกิดความลงตัวมากขึ้น แต่ปลายทางที่คำนวณออกมาจะได้ค่าการตลาดที่ 2 บาท หรือ 3 บาทก็คงไม่สามารถตอบได้ในเวลานี้"

หากดำเนินการในรูปแบบดังกล่าวเชื่อว่าทุกฝ่ายจะเห็นพ้องต้องกันในเรื่องของการคำนวณ แต่ด้วยระยะเวลาของการสื่อสาร และสไตล์การแก้ไขปัญหาของแต่ละคนก้ไม่เหมือนกัน ซึ่งก็ต้องยอมรับให้ได้ และอาจจะลำบากในการสื่อสารระหว่างฝ่ายรัฐบาล และผู้ค้าน้ำมัน โดยอาจจะมีอารมณ์เข้ามาเป็นส่วนประกอบบ้าง