บทความ โดย วีระพล จิรประดิษฐกุล นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน
ในช่วงปี 2565-2566 เป็นช่วงที่ราคานํ้ามันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปี 2564 การคลี่คลายการระบาดของโรคโควิด-19 และจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนในช่วงต้นปี 2565 และมาซํ้าเติมด้วยสงครามอิสราเอล-ฮามาส
นโยบายของรัฐบาลจึงเข้ามาตรึงทั้งราคานํ้ามันและไฟฟ้า เพื่อบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชน โดยมาตรการด้านนํ้ามันใช้กลไกของการลดภาษีสรรพสามิตและกองทุนนํ้ามันอุดหนุน จนกองทุนนํ้ามันติดลบกว่า 150,000 ล้านบาท ส่วนการตรึงค่าไฟฟ้า ใช้วิธีให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.) รับภาระไปก่อน จนติดหนี้ กฟผ. 150,268 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 รวมทั้งติดหนี้ค่าก๊าซธรรมชาติ ปตท. อีก 8,000-9,000 ล้านบาทในช่วงปลายปี 2566
การแก้ไขปัญหาดังกล่ามิได้เป็นการแก้ไขเชิงโครงสร้างของไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติและนํ้ามัน ซึ่งเป็นการแก้ไขระยะยาวและมีความยั่งยืน แต่เป็นการติดหนี้ ยืมเงินในอนาคตมาใช้ ซึ่งสุดท้ายแล้วประชาชนต้องมาใช้หนี้ด้วยตนเอง นอกจากนี้การกำหนดราคาพลังงานให้ตํ่ากว่าต้นทุนที่แท้จริง เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนไม่ประหยัดพลังงานอีกด้วย
ล่าสุดค่าเอฟทีงวดมกราคม-เมษายน 2567 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศค่าเอฟทีอยู่ที่ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ค่าไฟรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย โดยได้คืนค่า AF แก่ กฟผ. จำนวน 15,963 ล้านบาท เหลือ AF สะสม 79,814 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ค่าเอฟทีไม่ควรสูงกว่า 4.20 บาท โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางแก้ไขด่วน
ในที่สุดในวันที่ 10 มกราคม 2567 ทาง กกพ. ได้เคาะค่าไฟฟ้างวด มค.-เมย. 67 ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดยใช้หลายมาตรการมาช่วยปรับค่าเอฟทีลง ประกอบด้วย การปรับราคาก๊าซธรรมชาติเข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) การปรับปรุงราคา Spot LNG ใหม่ การเรียกเก็บ Shortfall จาก ปตท. จำนวน 4,300 ล้านบาท กรณีผู้ผลิตก๊าซในอ่าวไทยไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งให้ กฟผ.รับภาระเงินคงค้างแทนประชาชน จำนวน 15,963 ล้านบาท ทำให้เอฟทีงวดใหม่ลดลงจาก 98.55 สตางค์ต่อหน่วยเหลือ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังได้มีมติ ให้ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยใช้งบกลางปี 2567 วงเงินรวม 1,950 ล้านบาท
การดำเนินการตามที่ได้กล่าวมาแล้ว คาดว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าในช่วงปี 2567 จะยังอยู่ในระดับที่ 4.20-4.40 บาทต่อหน่วย ถ้าจะให้ลดได้อีกจะต้องเร่งการผลิตจากอ่าวไทยให้เพิ่มจากระดับ 200-400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปัจจุบัน เพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน 2567 รวมทั้งรณรงค์ให้มีการประหยัดการใช้ไฟฟ้าให้มากขึ้นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน (เม-ย.-ก.ค.) เพื่อลดการนำเข้า LNG ซึ่งยังมีราคาสูงและผันผวน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยตกอยู่ในกับดักของการอุดหนุนราคาพลังงานให้ตํ่ากว่าต้นทุน ไม่ได้มีการปรับโครงสร้างพลังงานที่เป็นชิ้นเป็นอัน โดยการส่งเสริมให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระยาว
ดังนั้น ในช่วงปี 2567 ยังมีงานใหญ่ค้างรอรัฐบาล โดยกระทรวงพลังงาน รวมทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มาขับเคลื่อนในเชิงกำหนดนโยบายและการปรับแผนโครงสร้างพลังงานของประเทศในระยะยาว ให้มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) และสอดคล้องกับเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวของประเทศ ตามนโยบาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission ซึ่งแผนดังกล่าวได้ล่าช้ากว่า 2 ปีแล้ว ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2023) ระหว่างปี 2566-2580 ซึ่งเป็นแผนพลังงานทางด้านไฟฟ้าที่มีทิศทางสอดรับกับข้อตกลงที่ประเทศมุ่งสู่พลังงานสะอาด ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ (CO2) พร้อมสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน
รวมทั้งจัดทำแผนพลังงานชาติ 2023 (National Energy Plan 2023) เพื่อให้เห็นภาพรวมพลังงานทั้งประเทศ โดยรวมทั้ง 5 แผนไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย (1). แผน PDP 2023 (2). แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) (3). แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) (4). แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ (5). แผนบริหารจัดการนั้นเชื้อเพลิง (Oil Plan)
นอกจากนี้ ยังมีงานปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ใน ช่วงปี 2564-2568 ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ
ทั้งนี้ โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบันใช้มาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งไม่สะท้อนกับโครงสร้างการผลิตและการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน รวมทั้งการขับเคลื่อนนโยบายการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว แต่ยังมีก้าวหน้าไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งจะต้องขับเคลื่อนต่อไปพร้อม ๆ กับการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าซึ่งเป็นระบบรวมศูนย์แบบ Enhanced Singer Buying (ESB) เป็นระบบที่ใช้มาเกือบ 20 ปีแล้ว ไม่สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) และการแปลงนวัตกรรมทางเทคโนยีด้านพลังงานอันรวดเร็วของโลกในยุคปัจจุบัน