นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 10 รายชื่อ คณะกรรมการบริหาร กฟผ. (บอร์ด กฟผ.) ชุดใหม่ จากการเปิดรับสมัครตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) นั้น บอร์ดกฟผ. จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่แทน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าฯ กฟผ.ที่ได้ครบวาระไปแล้วในวันที่ 21 ส.ค.2566
ทั้งนี้ บอร์ด กฟผ. จะเชิญ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งบอร์ดชุดที่ผ่านที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ได้มีมติเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2566
โดยบอร์ดจะหารือกับนายเทพรัตน์ โดยเฉพาะหลักการเรื่องการทำงานซึ่งต้องไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงรับทราบนโยบายของกระทรวงพลังงานว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ อาทิ การดำเนินการในเรื่องของการแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ออกจาก กฟผ. เพื่อให้มาบริหารที่ดึงคนนอกเข้าร่วมเพื่อความเป็นกลาง
รวมไปถึงสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (internal PPA) ของ กฟผ. ที่ไม่เกี่ยวกับเอกชนที่จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องสำคัญคือการทำงานของบอร์ดและผู้ว่าฯ กฟผ. จะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปในทิศทางเดียวกันได้ ส่วนข้อกังวลที่หลายฝ่ายมองว่าหากนับอายุการทำงานปัจจุบันจะทำให้นายเทพรัตน์ ขาดคุณสมบัติเหลือระยะเวลาทำงานไม่ถึง 2 ปีนั้น จะยังคงยึดหลักเกณฑ์การนับอายุในวันที่สมัคร ถือว่ายังมีคุณสมบัติที่ครบถ้วน
แหล่งข่าวจาก กฟผ. กล่าวว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมา หลังจากบอร์ดชุดเก่าได้ลาออกไปทั้งชุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 พร้อมกับมีผู้บริหารเกษียณอายุงานในหลายส่วน ดังนั้น การดำเนินงานภายในจึงไม่ราบรื่นตามไปด้วย โดยเฉพาะการปรับตำแหน่งต่าง ๆ เนื่องจากกระบวนการแต่งตั้งผู้บริหารภายในยังต้องอาศัยอำนาจของผู้ว่าฯ มาอนุมัติ พร้อมมอบนโยบายทิศทางการดำเนินงาน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องมีการลงทุนในวงเงินที่สูงจะต้องได้รับการอนุมัติโดยบอร์ด กฟผ. ก็ต้องชะลอไปด้วย เป็นต้น
"ความล่าช้าของการจัดตั้งบอร์ด กฟผ. ชุดใหม่ หลังจากที่บอร์ด กฟผ. ชุดเดิมได้ลาออกไปทั้งชุดกระทบกับการขออนุมัติหลายโครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุน ซึ่งเป็นอำนาจของบอร์ด กฟผ. ที่จะต้องอนุมัติโครงการและเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบประมาณมาดำเนินโครงการ"
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภายในเดือน ก.พ. 2567 นี้ คณะกรรมการฯ จะต้องเร่งเปิดวาระการประชุมบอร์ดนัดแรกทันที เนื่องจากปกติบอร์ดกฟผ. จะมีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง โดยกำหนดไว้ที่สัปดาห์ที่ 4 ของเดือน ดังนั้น จึงเชื่อว่าการประชุมนัดแรกจะเป็นสัปดาห์หน้า เพื่อเดินหน้าเจรจากับนายเทพรัตน์ ถึงนโยบายการทำงานและร่วมกันในเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งหากเจรจาสำเร็จก็จะสามารถนำเสนอชื่อนายเทพรัตน์ เข้าสู่ที่ประชุม ครม. เห็นชอบตามหลักการอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี หากกรอบแนวความคิดไม่สามารถดำเนินงานร่วมกันได้ ก็อาจจะมีการพิจารณาผู้สมัครที่เหลือและมีคะแนนในลำดับถัดไปมาคือ นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. หารือถึงกรอบนโยบายร่วมกัน รวมถึงผู้สมัครอีก 2 ท่าน คือ นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน และนางสาวจิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง หรือหากเลวร้ายกว่านั้น ก็อาจจะมีการเปิดรับสมัครเพื่อสรรหาใหม่อีกครั้ง ซึ่งทุกขั้นตอนก็อยู่ที่บอร์ด กฟผ. แต่เชื่อว่าการเปิดสรรหาใหม่อาจจะทำให้มีความล่าช้าออกไปอีก
"กฟผ. ไม่ควรขาดทั้งบอร์ดและผู้ว่าการ นานไปกว่านี้อีกแล้ว และยิ่งตอนนี้ยังมีปัญหาต่าง ๆ มากมายเมื่อไม่มีผู้ว่าการ ผู้บริหารที่ควรจะได้ปรับตำแหน่ง รวมถึงตอนนี้ตัวซีอีโอ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้เกษียณการทำงานแล้ว แต่เมื่อยังไม่มีตัวผู้ว่าการ ก็เลยยังคงตำแหน่งไว้อย่างเดิม เป็นต้น"
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า มีโครงการที่รออนุมัติอยู่ประกอบด้วย