นางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว (รสนา โตสิตระกูล) เกี่ยวกับจดหมายเปิดผนึกของหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ,ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงานถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีข้อความระบุว่า
จดหมายเปิดผนึกของผู้ใหญ่3ท่านถึงนายกฯ สงสัยห่วงใยประชาชน หรือห่วงใยผลประโยชน์ของใครกันแน่
นางสาวรสนา ระบุว่า ออกจะผิดหวังกับข้อเสนอของผู้หลักผู้ใหญ่ 3 ท่านที่เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงท่านนายกรัฐมนตรี อ้างความห่วงใยในความเสียหายทางเศรษฐกิจของชาติที่เกิดจากนโยบายพลังงานของรัฐบาลจำนวน 5 ข้อ
โดยภาพรวมของประเด็นความห่วงใยของพวกท่าน ล้วนเป็นความห่วงใยต่อผลประโยชน์ที่จะกระทบทุนพลังงานเป็นหลัก ไม่ได้ห่วงใยประชาชนที่ต้องแบกรับราคาน้ำมันแพง ค่าไฟแพงและค่าก๊าซหุงต้มที่แพงเกินสมควรตลอดมา ใช่หรือไม่
ข้อที่1.ท่านห่วงกรณีเรื่องกองทุนน้ำมันติดลบเพราะรัฐบาลนำไปตรึงราคาดีเซล และลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 1บาทต่อลิตรในผู้ใช้เบนซิน เพื่อลดภาระบนหลังของผู้ใช้เบนซินลงบ้าง แต่พวกท่านไม่เห็นด้วย โดยอ้างตรรกะดึกดำบรรพ์ที่ว่า น้ำมันราคาถูกจะทำให้ประชาชนไม่ประหยัด ซึ่งเข้าทางตลาดโลภของผู้ประกอบการ ที่หาทางล้วงส่วนต่างค่าน้ำมันที่มีราคาลดลงตามตลาดโลก
แต่ไม่ลดให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โยกไปไว้ในค่าการตลาดบ้าง ย้ายไปไว้ในน้ำมันเอทานอลให้แพงขึ้นโดยไร้การตรวจสอบ จะได้ไม่ต้องลดราคาน้ำมันให้ประชาชน ตามราคาตลาดโลก ด้วยข้ออ้าง น้ำมันแพง ประชาชนจะได้ประประหยัด ใช่หรือไม่
ทั้งนี้ ขอย้ำว่ากองทุนน้ำมันตามกฎหมายคือเงินที่ประชาชนสะสมไว้ช่วยเหลือตัวเองในยามราคาน้ำมันแพงจากตลาดโลก แต่ปัจจุบันน้ำมันแพงไม่ได้มาจากราคาตลาดโลก แต่มาจากกลไกบวกเพิ่มของผู้ประกอบการ ทั้งค่าการตลาด ราคาน้ำมันชีวภาพ และรวมถึงค่าการ กลั่นด้วย โดยมีกองทุนฯเป็นเงินประกันกำไรให้ผู้ประกอบการ ใช่หรือไม่
หากพวกท่านห่วงใยประชาชน ไม่ต้องการนำกองทุนน้ำมันมาตรึงราคาดีเซล ก็ควรเสนอให้ตัดน้ำมันไบโอดีเซลที่เติมในดีเซล 7% ออกไปทำให้ลดราคาน้ำมันลงได้ 2.42 บาท/ลิตร สามารถคงราคาดีเซล 30 บาทโดยไม่ต้องขึ้นราคาดีเซลเป็น 32 บาท ให้เป็นภาระแก่ประชาชน
ราคาน้ำมันลดลงได้อีกถ้าให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันลดกำไรส่วนเกินของตนเองลงไปบ้าง เหมือนสมัยที่ปตท.ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ เวลาค่าการกลั่นพุ่งสูงขึ้นตามความผันผวนตลาดโลก กพช.ก่อนยุคปตท.ถูกแปรรูป เคยมีมติ(การประชุมครั้งที่8/2543)ว่า ในช่วงที่ภาวะตลาดน้ำมันผิดปกติ ทำให้ค่าการกลั่นมีความผันผวนมาก ให้ ปตท.และโรงกลั่นไทยออยล์ ใช้หลักการบริหารค่าการกลั่นและค่าการตลาด โดยนำส่วนลดค่าการกลั่นมาช่วยตรึงหรือลดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงมิให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการบริหารความผันผวนของตลาด
โดยไม่ได้ใช้กองทุนน้ำมันมารับภาระชดเชยค่าน้ำมันแพงตลอดเวลา ผู้ประกอบการมีส่วนช่วยด้วย แต่ปัจจุบันล้วงแต่เงินกองทุนน้ำมันที่เป็นเงินประชาชน ผู้ประกอบการรับแต่กำไรใช่หรือไม่
ช่วงปี2566 ที่โรงกลั่นได้กำไรอู้ฟู่จากค่าการกลั่นที่ผันผวนในตลาดโลก กพช.และนายกฯในรัฐบาลก่อนไม่หือ ไม่อือ ทั้งที่ควรใช้เครื่องมือของกระทรวงการคลังเก็บภาษีลาภลอยจากโรงกลั่นน้ำมันมาชดเชยให้น้ำมันถูกลง แต่รัฐบาลก็ปล่อยให้โรงกลั่นได้กำไรค่าการกลั่นสูงถึงลิตรละ 8 - 11 บาท ทั้งที่ค่าการกลั่นบวกกำไรในเวลาปกติ ลิตรละ 1.50 บาทก็ใช้ได้แล้ว พวกท่านก็ไม่เคยออกมาเรียกร้องสักแอะให้ประชาชนเลย ใช่หรือไม่
ประชาชนคงออกมาแซ่ซ้องสรรเสริญท่าน ถ้าท่านจะแนะนำท่านนายกฯ ให้รัฐบาลยกเลิกการคิดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่บวกต้นทุนเทียมเสมือนนำเข้าจากสิงคโปร์ (Import Parity) ทั้งที่น้ำมันสำเร็จรูปกลั่นในประเทศไทย 100% ในอดีตรัฐบาลเคยให้แรงจูงใจโรงกลั่นสมัยแรกตั้งโรงกลั่น เพื่อให้มีกำไรมากขึ้นในช่วงเริ่มกิจการ
แต่นั่นก็เป็นเวลาเกือบ 30 ปีมาแล้ว ปัจจุบันควรยกเลิกแรงจูงใจนี้ได้แล้ว จะได้ลดภาระบนหลังของประชาชนลงบ้าง ท่านก็ไม่เรียกร้องให้ประชานบ้างเลย ใช่หรือไม่
แม้บมจ.ปตท.เป็นบริษัทเอกชนมหาชน แต่รัฐถือหุ้นเกิน51 % รัฐบาลสามารถสั่งการบมจ.ปตท.ให้ควบคุมค่าการกลั่น ค่าการตลาดที่เหมาะสมตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ดีเซลลิตรละ 1.50 บาท และเบนซินลิตรละ 2บาท ก็จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้ลิตรละ 2-3 บาทโดยไม่ต้องไปล้วงกองทุนน้ำมันเลยก็ได้ ใช่หรือไม่
ข้อที่2.ท่านวิจารณ์การลดค่าไฟโดยการให้กฟผ.ยืดหนี้ เป็นวิธีแก้ที่จะสร้างภาระหมักหมมหนี้ในอนาคต ข้อนี้เห็นด้วยการแก้ปัญหาค่าไฟแพงสำหรับประชาชน ไม่ควรต้องให้กฟผ.มาแบกรับภาระหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องชั่วคราว ท่านก็ควรเสนอวิธีแก้ปัญหาระยะยาวที่ต้นเหตุคือให้รัฐบาลหยุดทำสัญญาซื้อไฟเพิ่มจากเอกชน เพราะปัจจุบันเรามีสำรองไฟฟ้าเกินมาตรฐานมากกว่า 50% แล้ว ทั้งที่ควรมีสำรองไว้แค่ 15% ตามหลักเกณฑ์ทึ่เหมาะสม
ประเด็นนี้ต่างหากที่เป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ค่าไฟแพง เพราะการสำรองไฟมากเกินไป อุ้มเอกชนมากเกินไป โดยจ่ายค่าความพร้อมจ่ายตลอดอายุสัญญา 25 ปีให้เอกชน จึงควรเสนอรัฐบาลเจรจาเอกชนที่ได้กำไรคุ้มทุนแล้ว ลดค่าความพร้อมจ่ายลง
นอกจากนี้ควรสนับสนุนรัฐบาลให้รีบเปิดทางให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์บนหลังคาผลิตไฟลดค่าใช้จ่ายซึ่งรัฐบาลไม่ต้องเอาภาษีมาลดค่าไฟให้ รัฐบาลแค่ลดอุปสรรคให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์บนหลังคาได้สะดวก อนุมัติให้ใช้วิธีหักลบหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ กับไฟฟ้าที่ใช้ จ่ายเงินส่วนเกินที่ใช้ไฟจากการไฟฟ้า เรียกว่าระบบ Net Metering เพียงแค่นี้ประชาชนก็ลดภาระได้มากโขแล้วโดยรัฐบาลไม่ต้องเอาภาษีมาลดค่าไฟให้
ท่านควรสนับสนุนนายกเศรษฐาให้รีบปฏิบัติตามมติ ครม.สมัยที่พล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณรักษาการนายกรัฐมนตรีที่ให้ใช้ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า ควรเร่งรัดรัฐบาลให้ช่วยลดค่าไฟประชาชนด้วยวิธีนี้ ก็จะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าให้ประชาชนอย่างเป็นจริง ดีกว่าการบีบให้กฟผ.ชะลอหนี้สินออกไปเพื่อลดค่าไฟให้ประชาชนแบบชั่วคราว ใช่หรือไม่
ข้อ3. และข้อ4. ที่ท่านผู้ใหญ่แสดงความกังวลห่วงใยคุณภาพอากาศของประเทศ แต่มาสรุปท้ายให้รัฐบาลอนุมัติโรงกลั่น 6 โรงที่ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันจากยูโร 4 เป็นยูโร 5 สามารถขึ้นราคาน้ำมันได้นั้น เป็นข้อเสนอที่ทำให้ผู้ฟังสะดุดกึก และทำให้ประชาชนอดคลางแคลงใจไม่ได้ว่า เพราะเหตุใด พวกท่านยอมใช้เครดิตตำแหน่งฐานะทางสังคมมาทวงเงินแทนโรงกลั่นเหล่านี้!? หรือท่านถือหุ้น ? รับทุน ? หรือเป็นกรรมการ ฯลฯในบริษัทเหล่านี้หรือไม่ อย่างใด ?
ในเมื่อพวกท่านเป็นห่วงคุณภาพอากาศจากคุณภาพน้ำมัน ดิฉันก็อยากให้ท่านช่วยสอบถามบริษัทพลังงานที่ขายก๊าซ NGV ว่าปัจจุบันยังเติมก๊าซ CO2 สูงถึง 18% ในก๊าซ NGV อยู่อีกหรือเปล่า?
สมัยที่ดิฉันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (พ.ศ 2551-2557) เคยตรวจสอบเรื่องการเติมCO2 ในก๊าซรถยนต์ NGV 18% โดยมีข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงาน อ้างว่าก๊าซในอ่าวไทยแต่ละแหล่งมีCO2 สูงต่ำไม่เท่ากันตั้งแต่ 14-16 % และก๊าซบนบกมี CO2 ต่ำประมาณ 2-3% เพื่อไม่ให้ค่าความร้อนแตกต่างเกินไป เลยปรับให้เท่ากัน ด้วยการเติม CO2 ลงไป18% เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์มีปัญหา หรือเกิดการน็อค แทนที่จะใช้เทคโนโลยีเอา CO2 ออกจากก๊าซในทะเลออกไป ผู้บริหารในกระทรวงบอกกรรมาธิการว่า ที่ทำแบบนี้เพื่อให้ธุรกิจพอจะอยู่ได้ ?
นี่ก็ผ่านมาหลายปีแล้ว ฝากท่านผู้ใหญ่ช่วยถามว่า ยังใส่ก๊าซขยะ 18% อยู่หรือเปล่า มาตรฐานต่างประเทศให้มี CO2 ในก๊าซ NGV ได้ไม่เกิน 3% และต้องลดลงเรื่อยๆ จนเหลือไม่เกิน 1% แต่บริษัทพลังงานของไทยเติม CO2 ถึง 18% โดยกระทรวงพลังงานอนุญาต ดูแล้วก็มีความลักลั่นกับแนวทางปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเป็นยูโร 5 หรือไม่?
การเติม Co2 18% นอกจากเอาเปรียบผู้ใช้ ที่จ่ายเงินซื้อก๊าซ NGV 100 % แต่ได้เนื้อก๊าซไม่ถึง 100 % เพราะคนขายใส่ก๊าซขยะมาให้ 18% และก๊าซขยะพวกนั้นถูกปล่อยเป็นก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลในแต่ละปีที่ทำให้โลกร้อน ดิฉันไม่ทราบว่าท่านผู้ใหญ่เหล่านี้ ทราบหรือไม่ และผู้กำกับดูแล ได้แก้ไขแล้วหรือยัง?
ประชาชนอดสงสัยมิได้ว่า การปรับปรุงคุณภาพทั้งที่เลวลง (กรณีเติมCO2 ในNGV)และที่อ้างว่าดีขึ้น เช่นการปรับคุณภาพเป็นยูโร5 เป้าประสงค์หลักคือการทำกำไรของผู้ประกอบการ ใช่หรือไม่
และการปรับน้ำมันเป็นยูโ5 เป็นวิธีการกีดกันทางการค้าหรือไม่ เป็นการกีดกันน้ำมันราคาถูกจากที่อื่นด้วยหรือไม่!?
ข้อที่5. ท่านอ้างว่าตั้งแต่ต้นปี 2567 กระทรวงพลังงานใช้กลเม็ดการคิดเลขในการหาต้นทุนที่ต่ำลงสำหรับก๊าซใน Pool Gas ที่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้า โดยมิได้เป็นการจัดหาและนำก๊าซต้นทุนต่ำมาเพิ่มเติมใน Pool Gas โดยนำราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาก๊าซจากพม่าและก๊าซLNG) ส่วนที่เคยส่งเป็นวัตถุดิบ ไปเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์คืออีเทนและโพรเพนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เอามารวมคำนวณเป็นราคาใน Pool Gas เพื่อให้ได้ราคาเฉลี่ยสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำลง ผลที่ตามมาก็คือราคาของก๊าซส่วนที่แยกไปใช้ผลิตเป็นวัตถุดิบในโรงแยกก๊าซ (GSP) เพิ่มสูงขึ้นทันที อันส่งผลต่อการทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง และทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของปิโตรเคมีทั้งระบบเพิ่มขึ้นนั้น
"ผิดหวังจริงๆที่ท่านเห็นว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยควรจะเป็นอภิสิทธิ์ของบริษัทปิโตรเคมีที่เป็นบริษัทลูกของ บมจ.ปตท.ได้ใช้ก๊าซในราคาถูกเท่านั้น แล้วประชาชนทั้งประเทศล่ะ ท่านไม่คิดถึงเลยหรือ"
ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นทรัพยากรของชาติ ประชาชนควรได้ใช้ในการดำรงชีพด้วยราคาในประเทศ ส่วนบริษัทปิโตรเคมีเอกชน ควรไปแข่งขันตามกลไกตลาดเสรี การใช้แต้มต่อต้นทุนก๊าซราคาถูกเพื่อทำกำไร แต่ผลักประชาชนไปใช้ก๊าซหุงต้มราคาแพงตามราคาตลาดโลก เเล้วเอากองทุนมาชดเชย เป็นหนี้สินวนๆกันไป ไม่มีวันจบ เป็นการแย่งชิงทรัพยากรของประชาชนไปทำกำไรให้กลุ่มทุนรวยขึ้น มีความเป็นธรรมต่อประชาชนตรงไหน
ตรรกะพวกท่านคือก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเปรียบเหมือนไม้สัก ควรเอามาทำเฟอร์นิเจอร์ ไม่ควรเอาไปเป็นเชื้อเพลิง แต่ท่านปล่อยให้บริษัทปิโตรเคมีแย่งใช้ไม้สักจากประชาชนโดยจ่ายทรัพยากรในประเทศในราคาเศษไม้ แล้วผลักประชาชนไปใช้ก๊าซหุงต้มราคาตลาดโลก และอำพรางด้วยการเอากองทุนน้ำมันที่เป็นเงินประชาชนมาชดเชย
เงินจากกองทุนน้ำมันที่จ่ายชดเชยค่าก๊าซหุงต้ม คือกำไรที่บริษัทขายก๊าซหุงต้มจากทรัพยากรอ่าวไทยในราคาตลาดโลก ใช่หรือไม่ นี่คือกำไรจากการแย่งชิงทรัพยากรในประเทศจากประชาชน ใช่หรือไม่
นางรสนา ระบุอีกว่า ขอเสนอท่านผู้ใหญ่ และรัฐบาลให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนบ้าง ด้วยการคิดราคาก๊าซในอ่าวไทยที่ปิโตรเคมีใช้ในราคาไม้สัก หรือราคาตลาดโลก เพื่อยุติการซื้อขายก๊าซชั้นดีแบบราคาแม่กับลูก ที่เรียกว่า Net Back ระหว่างโรงแยกก๊าซ กับบริษัทปิโตรเคมี ดีหรือไม่
หนึ่งในพวกท่านเคยออกมาตั้งโต๊ะแถลงคัดค้านข้อบัญญัติให้มีการจัดตั้งบริษัทพลังงานแห่งชาติในร่างพรบ.ปิโตรเลียม พ.ศ …สมัยรัฐบาลคสช. ทำให้มาตรานี้ถูกตัดออกไป การบริหารจัดการทรัพยากรก๊าซธรรมชาติในประเทศ จึงเป็นไปอย่างเอียงข้างธุรกิจเอกชนมาตลอด ใช่หรือไม่
ความโชติช่วงชัชวาลที่พล.อ เปรมพูดถึง เมื่อพบทรัพยากรก๊าซเชิงพาณิชย์ในอ่าวไทย กลายเป็นความโชติช่วงชัชวาลเฉพาะของกลุ่มทุนพลังงานเท่านั้นหรือ?
นายกฯในฐานะประธาน กพช. ควรกำหนดนโยบายให้ความเป็นธรรมต่อประชาชน ได้ประโยชน์จากความโชติช่วงชัชวาลนี้บ้าง ดังนี้
ด้วยวิธีนี้จะเป็นการจัดสรรทรัพยากรก๊าซในอ่าวไทยที่มีความเป็นธรรมต่อประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน ส่วนบริษัทเอกชนก็ขอให้ท่านใช้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดเสรีที่ท่านมักพร่ำพูดอยู่เสมอว่าราคาพลังงานในประเทศเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี
การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ไม่ใช่มาจากบริษัทเอกชนเท่านั้น แต่มาจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ที่เป็นการบริโภคภายในประเทศของประชาชน ซึ่งมีมูลค่าถึงครึ่งหนึ่งคือ 50% ของ GDP เลยทีเดียว การทำให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ด้วยการลดกำไรส่วนเกินที่ทำให้ราคาพลังงานไม่สูงเกินจริงลงไป จะเป็นการช่วยเศรษฐกิจของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน
จึงขอให้ท่านผู้ใหญ่ของบ้านเมืองนี้ และท่านนายกรัฐมนตรีช่วยพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนคนเล็กคนน้อยในประเทศนี้ด้วย