นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ดำเนินการร่วมกับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ,บริษัท Chiyoda (CYD) และบริษัท Mitsubishi (MCT)
ทั้งนี้ เพื่อศึกษาและพัฒนาการใช้ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน เพื่อผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนียในพื้นที่ที่มีศักยภาพของไทย โดยเป็นการต่อยอดจากการที่ กฟผ.เคยร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2566 ในการศึกษาและพัฒนาโครงการการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดบนพื้นที่ศักยภาพ กฟผ.
โดยพบว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาไฮโดรเจนอย่างมีนัยสำคัญ กฟผ. จึงมีแนวคิดในการศึกษาการใช้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว
และหากต้นทุนของพลังงานสะอาดสำหรับโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทยลดลง จะทำให้ราคาของไฮโดรเจนที่ผลิตอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Greenhouse Gas Emissions ของประเทศได้อย่างยั่งยืน
นายวงสกุล ยิ่งยง กรรมการผู้จัดการบริษัท EDL กล่าวว่า สปป.ลาว มีศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทน และยังมีโครงข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกับ กฟผ. โดย EDL เป็นรัฐวิสาหกิจของ สปป.ลาว ที่มีบทบาทด้านการวางแผนระบบไฟฟ้าและดูแลความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ โดยจะเป็นการรพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนผ่านการศึกษาและการประยุกต์ใช้ RECs ในโครงการไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย และยังเป็นการส่งเสริมการทำงานและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่พลังงานสีเขียวในอนาคตร่วมกัน
นายยาสุฮิโระ อิโนอุเอะ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายธุรกิจไฮโดรเจนผู้แทน CYD ระบุว่า มีความคาดหวังที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ซึ่ง CYD ในฐานะบริษัทด้านวิศวกรรมระดับโลกยินดีสนับสนุนความร่วมมือทางด้านเทคนิค เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและขยายตัวของพลังงานสะอาด ในประเทศไทย ลาว และญี่ปุ่นในอนาคต
นายคาซูฮิโระ วาตานาเบะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้แทน MCT กล่าวว่า การศึกษาในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวในการขยายและเติมเต็มการพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศไทย ผ่านการนำเข้าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จาก สปป.ลาว ด้วยกลไก RECs ซึ่งจะช่วยให้การแข่งขันดียิ่งขึ้น โดยจะทำให้เกิดแหล่งผลิตไฮโดรเจนสีเขียวภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาด้านพลังงานสะอาดของภูมิภาค ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ทั่วโลกมีเป้าหมายร่วมกันในอนาคต