การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 มีวาระสำคัญเสนอเข้าสู่ที่ประชุมหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นได้มีการเสนอ "วาระจร" เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยกระทรวงพลังงาน เสนอครม.พิจารณาเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานให้กับประชาชน และกลุ่มเปราะบาง ผ่านการตรึงราคาค่าไฟฟ้า งวดใหม่ และการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ในช่วงสิ้นปี 2567 นี้
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ที่ประชุมครม. ได้หารือเรื่องนี้นานที่สุด โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่ครม.ยอมให้เสนอวาระจรเข้ามาพิจารณาในที่ประชุมหลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการไปในช่วงการประชุมครม.เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าไม่อนุญาตให้มีวาระจรเสนอเข้ามาให้ที่ประชุมพิจารณา เว้นแต่กรณีจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้องการให้ศึกษาข้อมูลข้อเสนอให้เกิดความรอบคอบ
แต่ในการประชุมครม.ครั้งนี้ ที่ประชุมอาจเห็นว่า การตรึงราคาค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันดีเซล ครั้งนี้ ถือเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชนมีความจำเป็นเร่งด่วน จึงอนุญาตให้กระทรวงพลังงาน เสนอเข้ามา และมีมติเห็นชอบตามที่เสนอ โดยแยกเป็น 2 ส่วนนั่นคือ
แหล่งข่าวระบุว่า การเสนอมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงานเข้ามาในครั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้เสนอให้ที่ประชุมครม.จัดสรรงบประมาณเพื่อรอบรับการดำเนินการด้วย โดยเสนอขอรับการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวน 1,900 ล้านบาท เพื่อตรึงราคาค่าไฟฟ้า ซึ่งครม.ก็เห็นชอบตามที่เสนอ
ส่วนการตรึงราคาน้ำมันดีเซลนั้น เงินที่จะใช้มาจากการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปดูแลแทน
ต่อมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน แถลงรายละเอียดว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบให้ตรึงค่าไฟฟ้างวดใหม่เดือนก.ย. -ธ.ค.2567 อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และคงค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนที่ 3.99 บาทต่อหน่วย
ขณะที่ ราคาน้ำมันดีเซล ได้กำหนดเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ถึงวันที่ 31 ต.ค.2567 หลังจากนั้นจะดูสถานการณ์และมาตรการที่จะดูแลราคาน้ำมันต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงาน จะหารือกับกระทรวงการคลัง ถึงแนวทางการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเข้ามาเป็นมาตรการเสริม หรืออาจจะมีมาตรการอื่น ๆ เข้ามาช่วยตรึงราคาน้ำมันเพิ่มเติมด้วย
ส่วนการแก้กฎหมายในการกำหนดเพดานราคาน้ำมัน รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ยืนยันว่า จะทำกฎหมายในส่วนนี้ แต่จะจะไม่ทันในช่วงสิ้นเดือน ต.ค.นี้
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะเราอยู่กันแบบนี้มา 50 ปีแล้ว ไม่มีกฎหมายที่จะกำหนดราคาน้ำมันของรัฐบาลเลยทั้งที่เรื่องนี้กระทบกับพี่น้องประชาชนอย่างมาก ซึ่งกฎหมายก็ต้องมาดูไปถึงอำนาจของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยที่เดิมเคยมีอำนาจทั้งในการกำหนดดานราคาน้ำมัน และกำหนดสัดส่วนของการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดูไปควบคู่กันไป” รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ระบุ