"พลังงาน-คลัง" เล็งตั้งคณะทำงานร่วมคุมภาษีสรรพสามิตน้ำมันคุมราคาดีเซล

24 ก.ค. 2567 | 09:28 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2567 | 09:29 น.

"พลังงาน-คลัง" เล็งตั้งคณะทำงานร่วมคุมภาษีสรรพสามิตน้ำมันคุมราคาดีเซล ก่อนดึงอำนาจกลับคืนมาบริหาร ระบุอาเซียนมีประเทศที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 3 ประเทศ เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้มีการหารือนอกรอบกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนอกรอบ โดยมีความเห็นตรงกันว่าควรจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ เพื่อกำหนดแนวทางในการดูแลราคาน้ำมัน โดยกระทรวงพลังงานเสนอขอให้มีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงจากปัจจุบันเพื่อพยุงให้ราคาน้ำมันอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตรและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกองทุนน้ำมันและประชาชน

"ในประเทศอาเซียนมีประเทศที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันอยู่ 3 ประเทศ คือ เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย ซึ่งเวียดนามเก็บอยู่ที่ 1.70 บาทต่อลิตร สิงคโปร์ 5.54 บาทต่อลิตร ไทยเก็บอยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตรบวกกับภาษีท้องถิ่นอีก 60 สตางค์ต่อลิตรรวมเป็น 6.50 บาทต่อลิตร ในขณะที่เปรียบเทียบรายได้ประชาชนสิงคโปร์ห่างกันถึง 10 เท่าแต่ราคาน้ำมันของเราต่างกันเกินครึ่ง ดังนั้นจึงควรพิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน"
 

อย่างไรก็ดี ตอนนี้หากเปรียบเทียบแล้วโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยประกอบด้วย ต้นทุน 2 ส่วน คือ ต้นทุนเนื้อน้ำมันซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 21 บาทต่อลิตร และมีอัตราภาษีอื่น เช่น ภาษี

"ไทยมีแต่ภาษี ภาษี และภาษีซ้ำไปซ้ำมาอยู่ 2-3 รอบ ผู้ที่แบกภาระก็ยังเป็นประชาชน และยังต้องมีเงินเข้ากองทุนน้ำมันอีก ซึ่งเทียบแล้วไทยก็ไม่ได้ต่างจากที่อื่นแต่ทำไมไทยต้องจ่ายราคาน้ำมันที่สูงกว่า"

"พลังงาน-คลัง" เล็งตั้งคณะทำงานร่วมคุมภาษีสรรพสามิตน้ำมันคุมราคาดีเซล

ก่อนหน้านี้ไทยได้มีการนำไบโอมาผสมในน้ำมันซึ่งในขณะนั้นเป็นเพราะว่าราคาสินค้าเกษตรถูกการนำเอาไบโอมาผสมเป็นไบโอดีเซลจึงมีราคาไม่สูงแต่ตอนนี้ไบโอดีเซลมีราคาที่สูงขึ้น

ส่วนรัฐบาลมาเลเซีย มีงบประมาณในการดูแลราคาน้ำมัน 300,000-400,000 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งก็มีลักษณะคล้ายกับกองทุนน้ำมันของเราแต่ในภายหลังมาเลเซียก็ไม่ไหวแล้วก็เลยทยอยยกเลิกนโยบายนี้ไป ในขณะที่เราก็มีความเป็นห่วงเรื่องกองทุนน้ำมัน จึงนำมาสู่การนำเสนอแนวทางปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันในครั้งนี้
 

สำหรับมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล จากนี้จนถึงตุลาคมคาดว่าจะใช้เงินไม่มากประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน

สำหรับความคืบหน้าในการแก้กฎหมายเพื่อกำกับดูแลราคาน้ำมันขณะนี้ได้ยกร่างแก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จ โดยพ.ร.บ.ฉบับใหม่นั้น ฉบับแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรม ซึ่งประชาชนจะสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆได้อย่างถูกต้องโปร่งใส

"ร่างกฏหมายสร็จแล้วอยู่ระหว่างการทบทวนถ้อยคำ ขณะนี้จะให้คณะทำงานกฎหมายและคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่างกฎหมายให้เรียบร้อยจากร่างที่ร่างขึ้นมา เมื่อเสร็จสิ้น 100% แล้วก็จะมีการขอความเห็นจากทางภาคเอกชนต่อไป เพื่อจะแก้ไขให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในก่อนสิ้นปี 2567 โดยร่างกฎหมายใหม่ฉบับนี้จะไม่กระทบต่อการค้าเสรี แต่หากไม่มีกรอบก็จะกลายเป็นการเอาเปรียบ และคำว่าเสรีก็ต้องเสรีจริงๆ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ต้องการจะนำข้ามาค้าขายก็ต้องนำมาค้าขายได้"

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า เดิมทีก่อนที่ไทยใช้กฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2562 มีการใช้คำสั่งสำนักงานนายกรัฐมนตรีที่ให้อำนาจกระทรวงพลังงานในการดูแล 2 ด้าน คือ ด้านกองทุนน้ำมัน และการกำหนดเพดานภาษี

แต่เมื่อจะมาแก้ไขโดยการยกร่างพ.ร.บฉบับใหม่ก็มีการสันนิษฐานว่า จะไปขัดกับพรบวินัยการเงินการคลังปี 2561 ซึ่งกำหนดว่า เรื่องการยกเว้นภาษีต้องเป็นอำนาจของหน่วยงาน กระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ดี ได้แย้งไปว่าการยกร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่การแก้ไขกฎหมายงเพื่อยกเลิกภาษีหรืองดเว้นภาษี แต่จะไปกำหนดเพดานภาษี ซึ่งอยู่ในมาตรา 32 ซึ่งได้ไปเช็คกับกฤษฎีกาแล้ว ได้รับคำยืนยันว่าสิ่งที่คิดถูกต้อง เรื่องกำหนดเพดานไม่ได้ไปขัดกับกฎหมายวินัยการเงินการคลัง

"เดิมกระทรวงพลังงานมีอำนาจตามคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรี แล้วอำนาจในส่วนของการกำหนดเพดานหายไปเหมือนเป็นคนที่มี 2 ขาหายไปขาหนึ่งก็แค่เอากลับคืนมาเท่านั้น"

สำหรับเพดานภาษีควรเป็นเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งจะต้องมาคำนวณดูว่าควรจะอยู่ในอัตราที่เท่าไหร่ แต่หลักการคือ ไม่ควรตั้งโจทย์ว่าจะมาเก็บรายได้เข้าสู่รัฐด้วยภาษีนี้ เพราะสุดท้ายก็จะกลายเป็นภาระของภาครัฐ ซึ่งจะต้องไปดูว่าจะบริหารจัดการอย่างไร เบื้องต้นอาจจะให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ