"พีระพันธุ์" รื้อขนานใหญ่ราคาน้ำมันไทย ตั้งราคากลาง-ปรับได้เดือนละครั้ง

25 ก.ย. 2567 | 03:39 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2567 | 03:39 น.

"พีระพันธุ์" รื้อขนานใหญ่ราคาน้ำมันไทย ตั้งราคากลาง-ปรับได้เดือนละครั้ง ระบุป็นการคำนวณราคาน้ำมันตามต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่แท้จริงมาใช้แทนระบบอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga) โดยระบุว่า ได้ประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและด้านพลังงานครั้งที่ 4 เพื่อตรวจทานร่างกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันและก๊าซ ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าในรายละเอียดไปมากพอสมควรแล้ว และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในปีนี้

ทั้งนี้ ได้ร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาในเบื้องต้นทั้งหมด 180 มาตรา หลังจากที่ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงานที่กําหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี  โดยบทนิยามของกฎหมายฉบับนี้จะเป็นตัวกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญในหลาย ๆ เรื่อง  โดยเฉพาะเรื่องหลักเกณฑ์การคิดต้นทุนเฉลี่ยราคาน้ำมันว่าใช้วิธีคำนวณแบบไหน  คำนวณอย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการรื้อระบบกำหนดราคาน้ำมันให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยจะนำระบบ Cost Plus ซึ่งเป็นการคำนวณราคาน้ำมันตามต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่แท้จริง มาใช้แทนระบบอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ 
 

โดยระบบนี้จะกําหนดราคามาตรฐานอ้างอิงเป็นราคากลางในแต่ละเดือนว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยแต่ละเดือนควรจะเป็นเท่าไร ถ้าหากผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงกว่าราคากลางที่กําหนด ก็ต้องมาพิสูจน์ว่ามีต้นทุนที่สูงขึ้นจริงเพราะอะไร จึงจะปรับราคาได้ และให้ปรับได้เดือนละครั้ง ไม่ใช่ปรับรายวัน โดยคิดเป็นราคาเฉลี่ยในระยะเวลาที่กำหนดแทนการปรับราคารายวัน

"พีระพันธุ์" รื้อขนานใหญ่ราคาน้ำมันไทย ตั้งราคากลาง-ปรับได้เดือนละครั้ง

เชื่อมั่นว่ากฎหมายฉบับนี้จะสร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย โดยประชาชนจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ได้ใช้น้ำมันในราคาที่อิงจากต้นทุนน้ำมันที่แท้จริง ลดภาระการขึ้นลงของราคาน้ำมันรายวัน และหลุดพ้นจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ด้านผู้ประกอบการก็ไม่ขาดทุน ขณะที่ภาครัฐก็สามารถเข้าไปกำกับดูแลราคาน้ำมันได้ 

กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดหลักเกณฑ์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการสาธารณะกุศล รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร การประมง สามารถจัดหาน้ำมันมาใช้เองได้ตามหลักการค้าเสรี ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนด้านน้ำมันของผู้ประกอบการ และสามารถส่งผลให้ราคาสินค้าปรับลดลงได้จากต้นทุนด้านน้ำมันที่ลดลง

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมร่างกฎหมายอีกหลายฉบับ เพื่อสนับสนุนแนวทางรื้อ ลด ปลด สร้างระบบพลังงานไทย ให้มีความมั่นคง เป็นธรรม และยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของประชาชน เช่น กฎหมายกํากับดูแลการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตั้งระบบ Solar Rooftop 

และกฎหมายจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันแห่งชาติ หรือ Strategic Petroleum Reserve (SPR) ที่จะมาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะเรียนความคืบหน้าให้ทราบอย่างต่อเนื่อง