"ราคาน้ำมัน" ยังไม่ปรับขึ้นตามสงคราม เหตุค่าการตลาดยังสูง-บาทแข็งช่วย

02 ต.ค. 2567 | 05:47 น.
อัพเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2567 | 05:47 น.

"ราคาน้ำมัน" ยังไม่ปรับขึ้นตามสงคราม เหตุค่าการตลาดยังสูง-บาทแข็งช่วย คาดราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มได้รับผลกระทบวันนี้ ระบุจะกระทบมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับมีปัจจัยใดเข้ามาเพิ่มเติมอีกหรือไม่

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงประเด็นสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังอิหร่านยิงขีปนาวุธถล่มอิสราเอล ว่า น่าจะยังไม่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศช่วง 1-2 วันหลังจากนี้ เนื่องจากค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง จากราคาน้ำมันที่ถูกช่วง 2 วันที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ตามหลักการแล้ว เชื่อว่าน่าจะไม่ทำให้ราคาขายน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งช่วยทำให้ราคานำเข้าน้ำมันไม่สูงจนเกินไป เช่น ราคาน้ำมันที่เคยน้ำเข้าเพิ่มขึ้น 2.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ก็อาจจะเหลือแค่ 0.40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

"แน่นอนว่าสงครามดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันขายปลีกในไทยให้เพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยจากค่าการตลาดที่สูงในช่วงที่ผ่านมา และเงินบาทที่แข็งค่ายังพอจะช่วยทำให้ราคาน้ำมันในไทยยังไม่ปรับขึ้น"

"ราคาน้ำมัน" ยังไม่ปรับขึ้นตามสงคราม เหตุค่าการตลาดยังสูง-บาทแข็งช่วย

สำหรับราคาน้ำมันในตลาดโลกนั้น คาดการณ์ว่าน่าจะเริ่มมีผลกระทบวันนี้ โดยราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากประเทศสิงคโปร์น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น 1-2 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่จะกระทบน้ำมันสุกมากน้อยแค่ไหนต้องดูว่าจะมีปัจจัยใดเข้ามาเพิ่มเติมอีกหรือไม่

เนื่องจากสถานการณ์สงครามเวลานี้กลายเป็นระดับภูมิภาค โดยไม่แน่ใจว่ากลุ่มราคาน้ำมันสำเร็จรูปจะเห็นด้วยหรือไม่กับการปรับราคาขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันดิบที่ซื้อมากลั่นจะแพงขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลแต่จะมากหรือน้อยแค่ไหนยังไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน
 

อย่างไรก็ดี หากถามว่าจะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแบบหวือหวาเลยหรือไม่ ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะเป็นไปในลักษณะดังกล่าว น่าจะปรับขึ้นในวงจำกัดมากกว่า เพราะการที่อิหร่านโจมตีอิสราเอลไม่ใช่เพิ่งทำเป็นครั้งแรก แต่ทำมาแล้วหลายครั้ง

โดยการโจมตีล่าสุดจึงเปรียบเสมือนเป็นการเตือนอิสราเอลไม่ให้ทำอีก หลังจากที่เป็นฝ่ายโจมตีมาก่อน เรียกว่าเป็นการตอบโต้กลับ

"สงครามดังกล่าวมีการยิงกันมาแล้วหลายรอบ ตอบโต้กันกันไปมา หากจะลุกลามหรือขยายวงคงเกิดขึ้นไปนานแล้ว คงไม่ปล่อยให้ยืดเยื้ออยู่แบบนี้ ยกเว้นว่าจะมีสหรัฐอเมริกาเข้าไปเกี่ยวข้อง สงครามถึงจะขยายวงกว้าง และส่งผลกระทบอย่างมาก"