"ปตท.สผ." กำไร 9 เดือนปี 67 พุ่ง 60,517 ล้าน นำส่งรายได้รัฐกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท

28 ต.ค. 2567 | 11:04 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2567 | 11:04 น.

"ปตท.สผ." กำไร 9 เดือนปี 67 พุ่ง 60,517 ล้าน นำส่งรายได้รัฐกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท เผยปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 จากอัตราการผลิตโครงการ G1/61 มาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยผลประกอบการในรอบ 9 เดือนปี 67 ปตท.สผ. ว่า มีรายได้รวม 247,119 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 6,912 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สรอ.) 

โดยมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอัตราการผลิตปิโตรเลียมของโครงการ G1/61 ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

ในขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 47.11 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ จากการปรับตัวลดลงของราคาก๊าซธรรมชาติ จึงส่งผลให้รอบ 9 เดือนของปีนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 60,517 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 1,688 ล้านดอลลาร์ สรอ.
 

สำหรับในไตรมาส 3 นี้ บริษัทมีความคืบหน้าในการดำเนินงานโครงการในต่างประเทศ โดยโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้รับการอนุมัติแผนพัฒนาโครงการจากหน่วยงานรัฐบาลของอาบูดาบีแล้ว ซึ่งคาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ได้ในปี 2568 เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมและอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติให้บริษัทในอนาคต

"ปตท.สผ." กำไร 9 เดือนปี 67 พุ่ง 60,517 ล้าน นำส่งรายได้รัฐกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท

ส่วนด้านการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital-Driven Organization) ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ รวมทั้ง ช่วยลดระยะเวลาและลดค่าใช้จ่าย โดยในช่วงที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้พัฒนาโครงการ DigitalX ขึ้น 

ซึ่งเป็นการพัฒนาและประยุกต์ใช้โครงการนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Solutions) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างครบวงจร เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning ที่ช่วยวิเคราะห์และประมวลข้อมูลทั่วทั้งห่วงโซ่ธุรกิจของ ปตท.สผ. ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เช่น ช่วยการเจาะหลุมปิโตรเลียม กระบวนการผลิต การบริหารจัดหาจัดส่งวัสดุอุปกรณ์ โดยมีการเชื่อมฐานข้อมูล (Data Foundation) ที่เชื่อถือได้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีระบบบริหารจัดการทรัพยากร (ERP System) ที่ทันสมัย ภายใต้มาตรการความปลอดภัยเชิงรุก
 

นอกจากนี้ ปตท.สผ. กำลังพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยี หุ่นยนต์และอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานที่แท่นผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ลดความเสี่ยง ลดระยะเวลาในการทำงาน เช่น โดรนสำหรับขนส่งอุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น (Delivery Drone) ระหว่างแท่นผลิตในอ่าวไทย ซึ่งช่วยให้การเคลื่อนย้ายเครื่องมือ อุปกรณ์การผลิต และอื่น ๆ สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และโดรนสำหรับตรวจสอบสภาพภายนอกของแท่นผลิตและตรวจการ (Inspection Drone) เพื่อยืดอายุการใช้งานของโครงสร้างแท่นผลิตรวมถึงป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

“ในช่วงที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้พัฒนาและนำนวัตกรรม เทคโนโลยี หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ เช่น โครงการ DigitalX หุ่นยนต์ที่ปฏิบัติงานใต้ทะเล และเทคโนโลยีอื่น ๆ ผ่านบริษัทในเครือ และ ปตท.สผ. เอง การพัฒนาดังกล่าว ดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยการเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้ ประยุกต์ใช้ ทดลอง และต่อยอด ตามแนวทางการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อขยายขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการดำเนินงานทั้งด้านการสำรวจและการพัฒนาแหล่งพลังงานในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรและประเทศ”

นายมนตรี กล่าวอีกว่า ปตท.สผ. นำส่งรายได้ให้กับรัฐ กว่า 43,300 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาประเทศ ในรอบ 9 เดือนของปี 2567 ปตท.สผ. โดยนำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ  จำนวนกว่า 43,300 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

ส่วนแบ่งผลผลิตปิโตรเลียมจากโครงการ G1/61 และ G2/61 ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ยังเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งที่รัฐได้รับโดยตรงจากการผลิตปิโตรเลียมของบริษัท เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศอีกด้วย