นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ล่าสุด กฟผ. อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ตามร่างแผน PDP 2024 จำนวน 3 โครงการ กำลังผลิตรวม 2,472 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย
สำหรับทั้ง 3 โครงการมีมูลค่าลงทุนรวมประมาณ 9 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบัน กฟผ.ได้ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์แล้ว
และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเมื่อเดือน เม.ย.2567 ที่ผ่านมา โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนอยู่ในกระบวนการเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ส่งให้กระทรวงพลังงานพิจารณา เพื่อเสนอขออนุติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
อย่างไรก็ดี หากผลการศึกษาโครงการดังกล่าวสำเร็จ ขั้นตอนต่อไปจะต้องเสนอเข้าบอร์ด กฟผ. เห็นชอบ จากนั้นจะเสนอไปยังกระทรวงพลังงาน หากสอดคล้องกับแผน PDP2024 และผลตอบแทนเชิงเศรษฐศาสตร์ ทางกระทรวงพลังงานจะส่งเรื่องขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะรวบรวมความเห็น เพื่อเสนอไปยัง ครม. ต่อไป
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ มีข้อดีคือเป็นระบบกักเก็บพลังงานประเภทหนึ่งที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำ หรือประมาณ 2 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าได้
โดยการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชนิดดังกล่าวนี้ใช้หลักการเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั่วไป คือเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำ แล้วปล่อยน้ำผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าทดแทนไฟฟ้าจากพลังลมหรือแสงอาทิตย์ที่ขาดหายไปได้อย่างทันท่วงที
นายธวัชชัย ยังได้กล่าวภายหลังศึกษาดูงานที่ศูนย์ข้อมูลด้านพลังงาน Hainan Energy Data Center มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน ว่า Hainan Energy Data Center เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลและให้บริการด้านพลังงานของมณฑลไห่หนาน สำหรับกำหนดนโยบายและวางแผนการพัฒนาพลังงานรองรับและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด เช่น ข้อมูลการใช้พลังงานของประชากรและบริษัทอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอดีต ข้อมูลสมดุลการผลิตและใช้พลังงานของมณฑลไห่หนาน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากพลังงานที่ใช้ในพื้นที่ต่างๆ ได้
ขณะที่ประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย ยืดหยุ่น (Grid Modernization) เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน เช่น จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Forecast Center) โดยนำข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 29 แห่ง ที่เชื่อมต่อกับระบบของ กฟผ. มาวิเคราะห์และประมวลผลพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้วางแผนการผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ
ซึ่งมีทั้งรูปแบบการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าระยะสั้น (Day-ahead Forecast) แบบล่วงหน้า 10 วัน เพื่อใช้สำหรับวางแผนการผลิตไฟฟ้าระยะสั้น-กลาง และการพยากรณ์ภายในวัน (Intraday Forecast) ทุก 1 ชั่วโมง และ 6 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันเพื่อใช้สำหรับการวางแผนควบคุมระบบไฟฟ้าแบบเรียลไทม์
นอกจากนี้ กฟผ.ได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ เตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง