“ทุเรียนชายแดนใต้” ถือเป็นผลไม้อีกหนึ่งชนิดที่มีชื่อเสียง ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการเสริมประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ทุเรียนคุณภาพ” ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
โดยสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมมือกับหลาย ๆ หน่วยงานภายในพื้นที่ เช่น จังหวัด กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ รวมทั้งเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนสมาชิก ใน 20 วิสาหกิจชุมชน รวมกัน 253 ราย จำนวน 10,020 ต้น
ลักษณะเด่นของทุเรียนชายแดนใต้
ลักษณะเด่นของทุเรียนชายแดนภาคใต้ คือ เนื้อแห้ง เหนียว เนียนนุ่มหอม พันธุ์ที่นิยมปลูกคือ หมอนทอง ซึ่งเป็นพันธุ์หลักส่งออก
แนวทางการพัฒนาทุเรียนคุณภาพ
สรุปผลพัฒนาทุเรียนคุณภาพ
ผลการดำเนินงานในปี 2565 สามารถเพิ่มผลผลิตทุเรียนคุณภาพ เกรด AB จากเดิม 10% เมื่อเริ่มโครงการในปี 2562 เป็น 67% สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เพิ่มขึ้นจากครัวเรือนละ 146,035 บาท เป็น 254,550 บาท เกษตรกร สามารถจัดการดูแลแปลงทุเรียนให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 188 คน จากทั้งหมด 290 คน รวมเกษตรกรที่ผ่านมาตรฐาน GAP ตั้งแต่เริ่มโครงการ ยอดสะสมรวม 770 คน
นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีการพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ตามแนว พระราชดำริทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า ด้วยการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพ 20 แห่ง ที่สามารถร่วมกันแก้ไขปัญหา และมีโอกาสเข้าถึงแหล่ง เงินทุน และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมทั้งมีการจัดการปัจจัยการผลิต การกำหนดราคาขายที่เป็นธรรม ผ่านระบบการขายออนไลน์ และคู่ค้าพันธมิตร เป็นการเพิ่มอ้านาจต่อรองราคา
อย่างไรก็ตามจากงบประมาณดำเนินการทั้งหมด 11 ล้านบาท สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรวม 45 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนความคุ้มค่าต่อการลงทุนเท่ากับ 4.09 เท่า
รวมกลุ่มผลิตทุเรียนคุณภาพ
ล่าสุด นายเอกพล เพ็ชรพวง ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ เปิดเผยว่า เครือข่ายฯ ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของวิสาหกิจทุเรียนคุณภาพ 20 วิสาหกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกันจัด “มหกรรมเปิดบ้านเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้” เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ณ แปลงตัวอย่างของนายแจ้ง อินทิมา ต.ซากอ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
ทั้งนี้เพื่อเป็นเวทีให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนทั้ง 3 จังหวัด เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ในการผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพ รวมทั้งเชิญชวนให้ผู้บริโภคและผู้รับซื้อทุเรียนเข้ามาชมกระบวนการผลิตทุเรียนคุณภาพที่ผ่านการคัดเลือกมาเป็นอย่างดีของเครือข่ายฯ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทุเรียนของเราดีจริง
รวมไปถึงกระบวนการผลิต ตั้งแต่การดูแลไปจนถึงการเก็บเกี่ยว คู่ค้าของเรานอกจากจะมั่นใจได้ในคุณภาพว่าดีที่สุดแล้ว ยังมั่นใจได้ในกำลังการผลิตรวมกันของเครือข่ายฯ ว่า จะมีมากที่สุดในสามจังหวัดอีกด้วย โดยคาดการณ์ปริมาณผลผลิตในปีนี้ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,203 ตัน
ประเมินผลผลิตปีนี้เพิ่ม 2 เท่า
สำหรับทุเรียนคุณภาพในปีนี้ ปัจจุบันติดดอกเกือบ 100% ปริมาณผลผลิตจึงจะมีมากกว่าปีที่แล้วกว่า 2 เท่า แม้ปีนี้จะเกิดภาวะแห้งแล้งในพื้นที่ภาคใต้ แต่ระบบน้ำที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุน ทำให้เกษตรกรสมาชิกเครือข่ายไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเลย
นายเอกพล ระบุว่า ในปีนี้มีการดูแลคุณภาพของทุเรียนอย่างเข้มงวด เพื่อให้ได้ผลผลิตหนามเขียว ไม่มีหนอน มีการอบรม ติดตามผล ให้คำแนะนำ เก็บข้อมูล ประเมินผลการผลิตทุเรียนทั้ง 4 ระยะ ตั้งแต่ระยะเตรียมต้นสะสมอาหาร ระยะดอก ระยะผล จนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังนั้นจึงรับประกันได้ว่า ทุเรียนที่มาจากเครือข่ายฯ คือ ทุเรียนคุณภาพจริง ๆ
สำหรับการเปิดบ้านทุเรียนฯ ครั้งนี้ ทางเครือข่ายยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับองค์ความรู้ รวมทั้งเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย และการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานที่จำหน่ายสินค้า และการบรรจุแผนงานของเครือข่ายฯ ไว้ในแผนพัฒนาจังหวัด เพื่อผลักดันให้ทุเรียนคุณภาพสามชายแดนใต้ สามารถต่อยอดการดำเนินงานและการรวมกลุ่มเครือข่ายออกไปให้กว้างขวางต่อไป