"อาหาร" เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ การขาดแคลนอาหารจะส่งผลต่อสุขภาพและการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีแนวโน้มนำพาไปสู่ความขัดแย้ง การมีอาหารที่เพียงพอถือเป็นความมั่นคงรูปแบบหนึ่ง
ความสำคัญนี้ องค์การสหประชาชาติ จึงกำหนดความมั่นคงทางอาหารเป็นเป้าหมายที่ 2 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่มุ่งขจัดความหิวโหย บรรลุ "ความมั่นคงทางอาหาร" ปรับปรุงโภชนาการ และสนับสนุนเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
แนวโน้มทั่วโลกขาดแคลนอาหารรุนแรงขึ้น
ที่ผ่านมาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้รายงานสถานการณ์การขาดแคลนอาหารทั่วโลก มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน การเกิดภัยพิบัติ การขาดแคลนน้ำ ที่ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร
เช่นเดียวกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ขณะที่พื้นที่การเกษตรลดลง การเกิดโรคระบาดและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อการผลิตและราคาสินค้า ส่งผลกระทบให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร
โดยในปี 2565 จากรายงาน Global Report on Food Crises 2022 ของ FAO ระบุด้วยว่า ปัจจุบันมีประชากรเกือบ 193 ล้านคน ใน 53 ประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเกือบ 40 ล้านคน มีสาเหตุมาจากราคาอาหารแพงขึ้น
โดยราคาอาหารที่แพงขึ้นนำมาสู่ความไม่มั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะประเทศที่ประชากรมีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารของประชาชนในประเทศกลุ่มนี้ คิดเป็นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด
นอกจากนี้จากข้อมูลของ ธนาคารโลกยังระบุด้วยว่าราคาอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุก 1% จะทำให้ประชากร 10 ล้านคนถูกผลักให้เข้าสู่ความยากจนขั้นรุนแรง ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมมาตรการรับมือเพื่อสร้างความมั่นคงและความอยู่รอดของประชาชนในประเทศ
ไทยติดอันดับ 51 โลกความมั่นคงด้านอาหาร
จากข้อมูล Global Food Security Index (GFSI) ที่จัดทำและรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 113 ประเทศ พบว่า ในปี 2564 ประเทศไทย มีความมั่นคงด้านอาหารอยู่ในอันดับที่ 51 จาก 113 ประเทศทั่วโลก โดยมีคะแนนอยู่ที่ 64.5 จาก 100 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีคะแนนอยู่ที่ 63.6 คะแนน ซึ่งไทยอยู่ในอันดับสูงเป็นอันดับที่ 9 ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก และอันดับที่ 15 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง
สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างดี อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว หากพิจารณาความมั่นคงทางอาหารตามนิยามของ FAO ซึ่งประกอบด้วย 4 องค์ประกอบคือ การมีอาหารเพียงพอ การเข้าถึงอาหาร การใช้ประโยชน์จากอาหาร และการมีเสถียรภาพด้านอาหาร ยังมีประเด็นที่ไทยต้องให้ความสำคัญ
สำหรับสิ่งที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหาร มีประเด็นใหญ่ดังนี้
1.การมีอาหารเพียงพอ (Food Availability)
หมายถึง การมีอาหารในปริมาณที่เพียงพออย่างสม่ำเสมอ จากข้อมูลอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร (Self-Sufficiency Ratio: SSR) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่แสดงถึงสัดส่วนของปริมาณผลผลิตที่ผลิตได้ในประเทศต่อปริมาณผลผลิตที่ต้องใช้บริโภคในประเทศทั้งปีของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า เฉลี่ย 5 ปี ระหว่างปี 2558-2562 ไทยมีค่า SSR เกินกว่า 100% ในอาหารหลักและอาหารสำคัญที่คนไทยส่วนใหญ่บริโภคทุกรายการ ทั้ง ข้าว ไข่ไก่ ไก่เนื้อ สุกร และกุ้งเพาะเลี้ยง
ขณะที่สินค้าประเภทอาหารบางส่วน ไทยยังสามารถส่งออกและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อีกด้วย โดยสินค้าเกษตรและอาหารที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ ข้าวและผลิตภัณฑ์ ปลาและผลิตภัณฑ์ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ แม้ปัจจุบันไทยจะมีความมั่งคงทางอาหารในเชิงปริมาณที่มีอย่างเพียงพอสำหรับประชากรไทยทั้งประเทศ แต่ยังมีคำถามถึงความยั่งยืนของปริมาณอาหารในระยะยาว
2.การเข้าถึงอาหาร (Food Access)
หมายถึง การเข้าถึงทรัพยากรให้ได้มาซึ่งอาหารที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งนี้สถานการณ์การเข้าถึงอาหารสะท้อนได้จากปัญหาความหิวโหย โดยในปี 2564 รายงาน The Global Hunger Index (GHI) พบว่า ประเทศไทยมีระดับความหิวโหยโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางโดยอยู่ในลำดับที่ 53 จากทั้งหมด 116 ประเทศ
ขณะที่ สัดส่วนประชากรที่ขาดแคลนสารอาหารต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ในปี 2563 ของ FAO ที่ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่แต่ละประเทศจะเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารได้ พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 8.8% ของประชากรทั้งหมด หรือมีจำนวนผู้ขาดสารอาหาร 6.2 ล้านคน
3.การใช้ประโยชน์จากอาหาร (Food Utilization)
คือ การมีความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์จากอาหารได้อย่างเหมาะสมและสามารถจัดเตรียมอาหารให้ถูกสุขอนามัย และตามหลักโภชนาการ สถานการณ์ในภาพรวม พบว่า คนไทยยังมีความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่สอดรับกับการมีโภชนาการที่ดี ทำให้ไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ
จากข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพของประชากร ปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทย 22.5% คำนึงถึงความชอบเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ความอยากทานรสชาติ ความสะอาด คุณค่า ความสะดวก และราคา ตามลำดับ
4.การมีเสถียรภาพด้านอาหาร (Food Stability)
คือ การเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอแม้ในภาวะวิกฤต ก็ไม่มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนอาหารอย่างกะทันหัน โดยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อเสถียรภาพด้านอาหารที่สำคัญ คือ ภาวะเศรษฐกิจโลก และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ประเทศไทยได้พัฒนาระบบบริหารจัดการอาหารและน้ำกรณีฉุกเฉิน การป้องกัน แจ้งเตือน แก้ไข ภัยคุกคาม และส่งเสริมให้เกิดเกษตรยั่งยืน
รวมไปถึงการพึ่งพาตนเองด้านอาหารตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน ซึ่งที่ผ่านได้มีการบริหารจัดการเพื่อให้คนเข้าถึงอาหารและน้ำในช่วงวิกฤตต่าง ๆ รวมทั้งชุมชนมีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารเพื่อบริโภคในครัวเรือนและชุมชนโดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลกระทบด้านความมั่นคงทางอาหารจึงไม่รุนแรงนัก กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือเปราะบางมีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น
ทั้งนี้ผลการสำรวจผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อครัวเรือนในประเทศไทย ปี 2565 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ปัญหาด้านอาหารที่ครัวเรือนประสบ คือ การกินอาหารเพียงไม่กี่ชนิดและการไม่ได้กินอาหารที่มีประโยชน์หรือมีคุณค่าทางโภชนาการโดยครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดจะประสบปัญหาด้านอาหารในทุกมิติมากกว่าและรุนแรงกว่ากลุ่มครัวเรือนรายได้สูงสุด
แม้ว่าไทยจะมีความอุดมสมบูรณ์สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อคนในประเทศ แต่ยังพบความท้าทายของการผลิตอาหารในอนาคตที่ภาคเกษตรมีข้อจำกัดมากขึ้น ขณะเดียวกันประเด็นความสามารถในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ก็ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีปัญหาการผลิตอาหารที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงประเด็นการใช้ประโยชน์จากอาหารที่ยังขาดความรู้ทางโภชนาการและมีพฤติกรรมบริโภคอาหารไม่มีคุณภาพ และการสร้างขยะอาหาร ที่ยังเป็นความท้าทายที่สำคัญของไทย