ตลาด "กาแฟไทย" ต้นปี 2566 มั่นคงแค่ไหนบนความท้าทายด้านอาหาร

02 ก.ค. 2566 | 01:23 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2566 | 01:32 น.

เช็คสถานการณ์ตลาดกาแฟไทย ในช่วงต้นปี 2566 เป็นอย่างไร ตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ทั้งเนื้อที่ ผลผลิต แหล่งผลิตกาแฟแต่ละภูมิภาคของไทยมีแนวโน้มอย่างไร มั่นคงแค่ไหนบนความท้าทายด้านอาหาร

กาแฟ” พืชเศรษฐกิจสำคัญ และเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมทั่วโลก โดยในประเทศไทยธุรกิจร้านกาแฟมีการเติบโต และขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นไปตามเทรนด์ หรือแนวโน้มการดื่มกาแฟของคนรุ่นใหม่นั้นจะเริ่มให้ความสนใจกับที่มา หรือเรื่องราวของกาแฟเอกลักษณ์ของแหล่งปลูก รูปแบบการบริโภค และรสชาติของกาแฟกันมากขึ้น

ที่ผ่านมา กาแฟไทยสายพันธุ์อาราบิก้า และโรบัสตา ได้รับรางวัลการันตีหลายแห่ง เช่น กาแฟดอยช้าง ซึ่งได้รับการประกาศรับรองเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในระดับยุโรป มีศักยภาพจะทำตลาดในระดับสากล และสามารถจะนํามาเป็นจุดขาย เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดและการจําหน่ายผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟได้

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแหล่งปลูกกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์ โดยมีพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งสิ้น 268,211 ไร่ โดยการปลูกมี 2 สายพันธุ์หลัก คือ พันธุ์อาราบิก้า ปลูกมากในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก และ แพร่ และ พันธุ์โรบัสตา ปลูกมากในภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง และ พังงา  

 

ภาพประกอบข่าว สถานการณ์ตลาดกาแฟไทย ในช่วงต้นปี 2566

สถานการณ์การผลิตกาแฟในประเทศ

ข้อมูลล่าสุดในเดือนเมษายน 2566 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า เนื้อที่ให้ผลรวมทั้งประเทศคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลกาแฟพันธุ์โรบัสต้า และ พันธุ์อาราบิก้า ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยผลผลิตต่อไร่ของกาแฟทั้งสองพันธุ์คาดว่าเพิ่มขึ้น แบ่งเป็น

กาแฟพันธุ์โรบัสต้า : เนื้อที่ให้ผลกาแฟคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นกาแฟ ที่ปลูกเมื่อปี 2561 เริ่มให้ผลได้ในปีนี้ ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นกาแฟอยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง รวมทั้งเกษตรกรดูแลดี ประกอบกับปีนี้ได้รับน้ำฝนดี จึงออกดอก และติดเป็นผลมากกว่าปีที่แล้ว

กาแฟพันธุ์อาราบิก้า : เนื้อที่ให้ผลกาแฟคาดว่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากต้นกาแฟที่ปลูกเมื่อปี 2561 เริ่มให้ผลได้ในปีนี้ โดยเฉพาะแหล่งผลิตทางภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน โดยเกษตรกรปลูกเพิ่มในสวนผลไม้ และพื้นที่ว่าง เนื่องจากราคากาแฟพันธุ์ อาราบิก้าที่เกษตรกรขายได้เมื่อปี 2560 มีราคาดี ประกอบกับภาครัฐส่งเสริมให้ปลูกกาแฟ เป็นพืชทางเลือก 

ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากปีนี้ฝนมาเร็ว ต้นกาแฟเริ่มติดผลแล้วได้รับน้ำฝนที่เพียงพอทำให้การเจริญเติบโตของผลกาแฟสมบูรณ์ดีมากกว่าปีที่ผ่านมา

 

ผลผลิตกาแฟของโลก ปี 2561/62 จนถึงปัจจุบัน 2565/66

การผลิตกาแฟแต่ละภาคของไทย

ภาคเหนือ : เป็นแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า เนื้อที่ให้ผลคาดว่าเพิ่มขึ้นทั้งสองพันธุ์ จากต้นกาแฟที่ปลูกในปี 2561 เริ่มให้ผลได้ในปีนี้ เช่น จังหวัดเชียงราย ลำปาง น่าน และแม่ฮ่องสอน โดยเกษตรกรปลูกเพิ่มในสวนผลไม้และพื้นที่ว่าง เพราะราคากาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่เกษตรกรขายได้เมื่อปี 2560 มีราคาดี ประกอบกับภาครัฐส่งเสริมให้ปลูกกาแฟเป็นพืชทางเลือก 

ส่วนผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอ ไม่กระทบแล้งเหมือนปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นกาแฟสมบูรณ์ออกดอกติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตกาแฟจะเก็บเกี่ยวมากช่วงเดือนธันวาคม 2564 - เดือนกุมภาพันธ์ 2565

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เนื้อที่ให้ผลคาดว่าเพิ่มขึ้นจากการปลูกใหม่ในปี 2561 เริ่มให้ผลในปีนี้ สำหรับผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอ ทำให้ต้นกาแฟสมบูรณ์ ออกดอกติดผลมากกว่า ปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตกาแฟจะเก็บเกี่ยวมาก ช่วงเดือนธันวาคม 2564 - เดือนกุมภาพันธ์ 2555

ภาคกลาง : เนื้อที่ให้ผลคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกาแฟที่ปลูกในปี 2561 เริ่มให้ผลในปีนี้ ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี ผลผลิตเพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการติดดอกออกผล 

ยกเว้น ในจังหวัดฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ระยอง และชลบุรี แบ่งสัดส่วนการปลูกกาแฟเป็น 30% ปลูกในไร่ และ 70% ปลูกแซมในสวน ทุเรียน ต้นกาแฟที่ปลูกในไร่ ไม่ได้รับการดูแล จากเกษตรกร ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลจึงลดลง โดยผลผลิตกาแฟจะเก็บเกี่ยวมากช่วงเดือน ธันวาคม 2564 - เดือนกุมภาพันธ์ 2565

ภาคใต้ : เนื้อที่ให้ผลคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกาแฟที่ปลูกในปี 2561 เริ่มให้ผลในปีนี้ สำหรับผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลคาดว่า เพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยในช่วงกาแฟออกดอก ทำให้กาแฟติดผลดีกว่าปีที่ผ่านมา และต้นกาแฟจะได้รับน้ำเพียงพอ ทำให้ภาพรวมผลผลิตจึงเพิ่มขึ้น โดยผลผลิตกาแฟจะเก็บเกี่ยวมากช่วงเดือนธันวาคม 2564 - เดือนกุมภาพันธ์ 2565

 

สถานการณ์ตลาดกาแฟ และความต้องการใช้กาแฟของโลก

 

การตลาดและราคากาแฟ

คาดว่า ราคาเมล็ดกาแฟจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา จากปริมาณผลผลิตโลกที่เพิ่มขึ้น และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา สำหรับการส่งออกจะลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย เนื่องจากผลผลิตภายในประเทศลดลง

ส่วนการนำเข้าเมล็ดกาแฟมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปีที่ผ่านมาเล็กน้อยจากความต้องการ บริโภคภายในประเทศ และนำมาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออก ประกอบกับผลผลิตในประเทศลดลง

ความต้องการใช้เมล็ดกาแฟ

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานความต้องการใช้เมล็ดกาแฟของโรงงานแปรรูปในประเทศ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในปี 2565 มีปริมาณ 90,000 ตัน ลดลงจาก 91,993 ตัน ของปี 2561 ปริมาณ 1,993 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 2.17%

สถานการณ์การค้ากาแฟปัจจุบัน

การส่งออกเมล็ดกาแฟและกาแฟสําเร็จรูป 3 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – มีนาคม 2566) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกเมล็ดกาแฟดิบ 34.37 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 79.48% และมูลค่า 7.12 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 56.08% 

ส่วนการส่งออกเมล็ดกาแฟคั่ว มีปริมาณ 55.35 ตัน เพิ่มขึ้น 34.93% และมูลค่า 11.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.75%

สำหรับกาแฟสำเร็จรูปมีปริมาณการส่งออก 1,419.47 ตัน ลดลง 9.27% และมูลค่า 146.09 ล้านบาท ลดลง 12.60% และกาแฟ สำเร็จรูปผสม มีปริมาณการส่งออก 1,636.68 ตัน ลดลง 6.13% และมูลค่า 747.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.36%

นอกจากนี้การนำเข้าเมล็ดกาแฟและกาแฟสำเร็จรูป 3 เดือนแรก ของปี 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีปริมาณการนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบ 2,375.39 ตัน เพิ่มขึ้น 615.64% และมูลค่า 219.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 679.82% ตามลำดับ 

ส่วนการนำเข้าเมล็ดกาแฟคั่ว มีปริมาณ 630.87 ตัน เพิ่มขึ้น 30.34% มูลค่า 257.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.16% สำหรับกาแฟสำเร็จรูปมีปริมาณนำเข้า 6,029.82 ตัน เพิ่มขึ้น 1.16% มูลค่า 774.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.69% และกาแฟสำเร็จรูปผสม มีปริมาณการนำเข้า 595.66 ตัน ลดลง 9.63% มูลค่า 269.09 ล้านบาท ลดลง 11.28%

 

สถานการณ์การค้ากาแฟ ทั้งการส่งออกเมล็ดกาแฟ และกาแฟสำเร็จรูป ล่าสุด