รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้สั่งการให้กำลังพลจากกองทัพเข้า ช่วยเหลือชาวนา ในการเพาะปลูกข้าวในฤดูกาลนี้ เนื่องจาก ภัยแล้ง ที่รุนแรงทำให้จำนวน ผลผลิตข้าวในประเทศ ลดลงอย่างฮวบฮาบ ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องเพิ่มการนำเข้าข้าวในช่วงที่ราคาพุ่งสูงขึ้น และเป็นภัยคุกคามต่อ ความมั่นคงทางอาหาร
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในการเพาะปลูกที่ล่าช้ากว่ากำหนดเนื่องจากความแห้งแล้งอันเกิดจากสภาพอากาศแบบเอลนีโญ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซียได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารชั้นประทวนในหมู่บ้านต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า บาบินซา (Babinsa) เข้าช่วยเหลือเกษตรกรในการเพาะปลูกข้าว เพื่อใช้ประโยชน์จากฝนที่ตกเมื่อเร็ว ๆ นี้
วิดีโอบนแชนแนลยูทูบของประธานาธิบดีเผยให้เห็นว่า นายวิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ได้กล่าวระหว่างการเดินทางเยือนเขตเปอกาโลงันในจังหวัดชวากลางเมื่อวันพุธ (13 ธ.ค.) ว่า เนื่องจากฝนที่ตกในบางจังหวัด เราจึงต้องการส่งเสริมให้ชาวนาเริ่มปลูกข้าวในเวลานี้
"การเพาะปลูกข้าวล่าช้าเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่เราต้องการปลูก ปลูก ปลูก เดี๋ยวนี้เลย" ปธน.วิโดโดกล่าวขณะยืนอยู่ข้างนาข้าวที่เพิ่งปลูกใหม่
ทั้งนี้ อุปทานข้าวทั่วโลกตึงตัวมากยิ่งขึ้นในปี 2566 นี้เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งมักก่อให้เกิดสภาพอากาศที่ร้อน และแห้งแล้งกว่าปกติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งข้าว ในประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญลดลงอย่างมาก
โดยราคาข้าวในศูนย์กลางการส่งออกที่สำคัญหลายแห่งของเอเชียเพิ่มขึ้นถึง 45% สู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี หลังจากที่อินเดีย ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ข้าวชั้นนำของโลกประกาศจำกัดการส่งออก
รายงานข่าวระบุว่า ภัยแล้งทำให้การเพาะปลูกสำหรับการเก็บเกี่ยวในปี 2567 ของอินโดนีเซียล่าช้ากว่าปกติ หลังจากที่ผลผลิตข้าวในประเทศในปีนี้ลดลงมาอยู่ที่ระดับเพียง 30.9 ล้านเมตริกตัน จาก 31.53 ล้านเมตริกตันเมื่อปีที่แล้ว
ข้อมูลอ้างอิง