จากตามระเบียบ กระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิ์ชำระภาษีตามพันธกรณีตามความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การโลก (WTO) สำหรับสินค้ากากถั่วเหลือง ปี 2564 ถึงปี 2566 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 รวมถึงประกาศยกเว้นภาษีของกระทรวงการคลังจะสิ้นสุดลงด้วย จะส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเข้ากากถั่วเหลืองต้องเสียภาษีนำเข้าเต็มจำนวนต่อกรมศุลกากร ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสูง เพราะจะต้องเสียดอกเบี้ยให้ธนาคารเป็นเวลานาน ดังกรณีอดีตที่ผ่านมาการยื่นขอคืนภาษีจะใช้ระยะเวลากว่า 6-8 เดือน ทำให้สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 15 องค์กรได้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล เลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองปีละเกือบ 3 ล้านตันในการผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากไทยผลิตถั่วเหลืองได้ประมาณปีละ 2 -3 หมื่นตัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ที่ผ่านมาสินค้ากากถั่วเหลืองอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายอาหารของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้พิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) โดยการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองภายใต้กรอบ WTO กำหนดโควต้าผู้มีสิทธิ์นำเข้า 11 ราย นำเข้าได้โดยไม่จำกัดจำนวน มีอัตราภาษีร้อยละ 2 โดยพิจารณาคราวละ 3 ปี ซึ่งประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองปี 2563 -2566 จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคมนี้
ที่ผ่านมาคณะกรรมการโยบายอาหารจะยึดหลักบริหารวัตถุดิบให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ พร้อมกำหนดมาตรการดูแลคุ้มครองเกษตรกรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระบบอุตสาหกรรมให้ได้รับความเป็นธรรม โดยไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ กำหนดให้ผู้มีสิทธินำเข้าให้การสนับสนุนรับซื้อกากถั่วเหลืองที่ผลิตจากเมล็ดถั่วเหลืองในประเทศของโรงงานสกัดน้ำมันถั่วเหลืองทั้งหมดไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนด
โดยในปี 2566 กำหนดราคารับซื้อกากถั่วเหลืองอยู่ที่ 17.04 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) คำนวณจากราคารับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองภายในประเทศที่กำหนดไว้ที่ 2 1.75 บาท/กก. ณ โรงงานกรุงเทพฯ ซึ่งมีสำนักเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นผู้กำหนดราคาประกันโดยการพิจารณาจากต้นทุนเกษตรบวกกำไรที่เหมาะสม ก่อนหน้านี้สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้มีหนังสือติดตามความคืบหน้าการดำเนินการออกประกาศดังกล่าวไปแล้วหลายฉบับ โดยเริ่มต้นฉบับแรกตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 และฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม 2566 เพราะห่วงจะซ้ำรอยกับเมื่อคราวปี 2561 -2563 ซึ่งครั้งนั้นมีการออกประกาศในวันที่ 11 มกราคม 2561 ล่าช้าไป 11 วัน แต่โชคดีที่ปีนั้นไม่มีการนำเข้ากากถั่วเหลืองในช่วงระหว่างวันที่ 1-11 มกราคม ทำให้ยังไม่เกิดความเสียหายจากการนำเข้าไม่ได้
อย่างไรก็ตามผลพวงจากการออกประกาศล่าช้าของกระทรวงพาณิชย์ ทำให้กระทรวงการคลังออกประกาศยกเว้นอากรภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองได้ในวันที่ 7 มีนาคม 2561 ล่าช้าไป 66 วัน ทำให้สินค้ากากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาในช่วงหลังจากวันที่ 11 มกราคมถึงวันประกาศกระทรวงการคลังออก (55 วัน) จะต้องจ่ายภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 10 ส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่อง
ทั้งนี้เนื่องจากต้องสำรองเงินเพื่อจ่ายอัตราภาษีส่วนเกิน 8% ก่อน โดยครั้งนั้นมีปริมาณนำเข้ากากถั่วเหลืองอยู่ที่ 5.6 แสนตัน คิดเป็นมูลค่านำเข้า 7,430 ล้านบาท มูลค่าภาษีที่ต้องสำรองจ่ายจำนวน 594.4 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่า 2.97 ล้านบาท/เดือน และเนื่องจากการขอคืนภาษีใช้ระยะเวลากว่า 6 เดือน ทำให้เกิดดอกเบี้ยสูญเปล่ารวม 17.82 ล้านบาท
นายพรศิลป์ กล่าวอีกว่า ต่อมาสมาพันธ์ ได้มีหนังสือฉบับที่ 2 ได้รับคำตอบว่าจะต้องรอการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก่อน ทำให้สมาคมต้องมีหนังสือเร่งรัดฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 เพื่อขอให้พิจารณาแนวทางอื่นในการออกประกาศ เนื่องจากเห็นว่าการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีในเวลานั้นไม่มีความชัดเจน แต่ก็ได้รับคำตอบว่าไม่มีแนวทางอื่น
กระทั่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 จึงสามารถจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายอาหาร ครั้งที่ 1/2566 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้ จากนั้นกระทรวงพาณิชย์มีหนังสือเสนอประกาศดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 แต่ปัจจุบันเรื่องก็ยังไม่ถูกบรรจุเข้าที่ประชุม ครม. ซึ่งกินเวลามากว่า 47 วันแล้วโดยสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจนทราบว่าจะถูกบรรจุวาระเข้าในการประชุม ครม.วันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา
"แต่สุดท้ายได้รับแจ้งว่ามีการถอนวาระดังกล่าวออกและจะบรรจุเข้าที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 26 ธันวาคม 2566 โดยไม่ทราบสาเหตุการถอน"
สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงได้เร่งจัดทำหนังสือเพื่อเร่งรัดอีกครั้ง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 โดยมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เร่งบรรจุเข้าวาระ ครม.วันที่ 19 ธันวาคมนี้ เพราะภายหลังจากผ่านระชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว จะต้องมีกระบวนการออกประกาศยกเว้นอากรของกระทรวงการคลังอีกขั้นตอนหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วกฺไม่มีการนำเรื่องนี้เข้าวาระ ครม.
เป็นที่มาของการทำหนังสือฉบับที่ 5 ในวันที่ 20 ธันวาคม 2566 โดยสมาพันธ์ฯ ได้เร่งรัดการนำประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองเข้าที่ประชุม ครม. ทันที เพื่อระงับความสูญเสียให้น้อยที่สุด ด้วยเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปี 2566 แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ
โดยวันที่ 3 มกราคม 2567 จะมีเรือขนถ่ายสินค้ากากถั่วเหลืองเข้าสู่ประเทศไทยเป็นลำแรก และตลอดเดือนมกราคมจะมีเรือนำเข้ากากถั่วเหลืองจำนวน 4 ลำ รวมปริมาณนำเช้าประมาณ 2.1 แสนตัน ซึ่งความเสียหายหากประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองออกไม่ทัน จะต่างจากเมื่อปี 2561 เนื่องจากเรือที่ขนถ่ายสินค้ากากถั่วเหลืองที่จะเข้ามาตั้งแต่วันที่ 3 มกราคมจะไม่สามารถขนถ่ายสินค้าได้ มีค่าใช้จ่าย (Demurrage Charge) วันละ2.5 แสนบาท/ลำเรือ
โดยหากเรือเข้ามาพร้อมกัน 4 ลำ จะมีค่าใช้จ่าย 1 ล้านบาท/วัน นับไปจนกว่าจะออกประกาศ และยังคงต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่า กรณีประกาศลดหย่อนอัตราภาษีของกระทรวงการคลังออกล่าช้าเช่นเดียวกับปี 2561 โดยหากคิดค่าใช้จ่ายจากจำนวนนำเข้าในเดือนมกราคมที่จำนวน 2.1 แสนตัน มูลค่านำเข้าประมาณ 4,200 ล้านบาท มูลค่าภาษีที่ต้องสำรองจ่ายจำนวน 336 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่า 1.68 ล้านบาท/เดือน ระยะเวลาขอคืนภาษี 6 เดือน คิดเป็นอัตราตอกเบี้ยสูญเปล่ารวม 10.08 ล้านบาท
“เจอโรคเลื่อนมาหลายรอบแล้วไม่เชื่อใจ ว่าจะเข้าจริง แม้ว่าจะได้รับคำยืนยันก็ตาม แต่ก็ขอให้ช่วยระงับความสูญเสียให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึง การสูญเสียโอกาสในการผลิตอาหารสัตว์หากต้องหยุดชะงักเนื่องจากไม่มีวัตถุดิบในการผลิต อันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้บริโภคเนื้อสัตว์ภายในประเทศ และกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้า เนื้อไก่ และกุ้ง ซึ่งมีมูลค่าทางธุรกิจทั้งระบบรวมกันกว่าหนึ่งล้านล้านบาท” นายพรศิลป์ กล่าวย้ำในช่วงท้าย
ด้าน นายสืบวงษ์ สุขะมงคล นายกสมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ กล่าวว่า เพิ่งได้การยืนยันจากกระทรวงพาณิชย์ว่าจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ครม. ในวันพรุ่งนี้(26 ธ.ค. 66) แล้วจะประกาศให้มีผลสิ้นปีนี้ให้มีผลทันที ซึ่งก็ขอขอบคุณแทนเกษตรกร เพราะการไม่อนุมัติให้นำเข้าในครั้งนี้อาจจะมีผู้ได้รับผลประโยชน์ และเสียผลประโยชน์ เพราะนโยบายไม่แน่นอน ทำให้ผู้ผลิตในประเทศจะขึ้นราคาเท่าไรก็ได้ ทำให้เดือดร้อนกับผู้ใช้ (ภาคปศุสัตว์) อย่างไรก็ดีในบางประเทศที่มีความต้องการแต่สินค้าขาดแคลน จะยกเลิกภาษีด้วยซ้ำไป
อนึ่ง สมาพันธ์ปศุสัตว์ และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มี 15 สมาคม ประกอบด้วย 1.สมาคมปศุสัตว์ไทย 2.สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ 3.สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก 4.สมาคมกุ้งไทย 5.สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ 6.สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย 7.สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 8.สมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ 9.สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย 10.สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก 11.สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย 12.สมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ 13.สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ 14.สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และ 15.สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย