“ธัญพืชนอก”ท่วมตลาด ทุบราคาข้าวโพดดิ่ง แนะรัฐช่วยไร่ละพัน

23 พ.ย. 2566 | 07:04 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2566 | 07:04 น.

สมาคมการค้าพืชไร่ แฉ “ธัญพืชนอก” ท่วมตลาดนำเข้าเกินความต้องการใช้กว่า 5 แสนตัน “ข้าวสาลี” จ่อทุบสถิตินำเข้าสูงสุดในรอบ 6 ปี กระทบราคาข้าวโพดในประเทศร่วง โอดชาวไร่ตกเป็นแพะ ทำผู้เลี้ยงหมูขาดทุนยับ จากวัตถุดิบอาหารสัตว์แพง แนะรัฐจ่ายไร่ละ 1,000 บาท เลียนโมเดลช่วยชาวนา

มติคณะกรรมการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ได้มีประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความต้องการใช้ในประเทศและการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทนที่ส่งผลกระทบต่อราคาที่เกษตรกรได้รับปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้กระทรวงพาณิชย์โดยคณะทำงานติดตามสถานการณ์ด้านการผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งระบบ และคณะตรวจสอบปริมาณการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ (วาระพิเศษ) ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 15-16 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

 

“ธัญพืชนอก”ท่วมตลาด ทุบราคาข้าวโพดดิ่ง แนะรัฐช่วยไร่ละพัน

นายพรเทพ ปู่ประเสริฐ นายกสมาคมการค้าพืชไร่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปีที่แล้วราคาวัตถุดิบธัญพืชโลกทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ผลจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัจจุบันสถานการณ์ขาดแคลนธัญพืชเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เริ่มคลี่คลาย ประเทศส่งออกหลักเริ่มส่งออกได้มากขึ้น ผลผลิตโลกเพิ่มขึ้น 5% และไทยผลิตได้เพิ่ม 3% ผลจากราคาตลาดโลกปรับตัวลดลงมา ทำให้ผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาเพิ่มขึ้น กดราคาในประเทศปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ราคาข้าวโพด (20 พ.ย. 2566) โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อที่ 9.50-9.80 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

 

 

 “ปีนี้เกิดเหตุการณ์นำเข้าหมูเถื่อนเข้ามาจำนวนมาก กดดันราคาหมูในประเทศตกตํ่า เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูขาดทุนมหาศาล บางรายเลิกเลี้ยงไปเลย เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง โดยผู้เลี้ยงบอกว่า ข้าวโพดเป็นต้นทุน ถ้าข้าวโพดสูงถึง 11-12 บาทต่อกิโลฯ แล้วหมูราคาตก สุดท้ายก็ไปไม่รอด ชาวไร่-พ่อค้าก็ตกเป็นแพะ ดังนั้นจึงพูดในที่ประชุมว่า วงจรหมูที่ขาดทุน หรือล่มสลายลง ต้นเหตุไม่ใช่จากข้าวโพด แต่เกิดจากหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาจำนวนมาก สุดท้ายก็มาโบ้ยว่าหมูเจ๊ง เพราะต้นทุนแพง ข้าวโพดแพง ก็มองว่าไม่น่าถูกต้อง”

“ธัญพืชนอก”ท่วมตลาด ทุบราคาข้าวโพดดิ่ง แนะรัฐช่วยไร่ละพัน

นายพรเทพ กล่าวอีกว่า ปีที่ผ่านมาหากย้อนไปดูตัวเลข ไทยมีการนำเข้าข้าวสาลีประมาณ 3 แสนตัน จากรัฐให้โควตานำเข้า 1.3 ล้านตัน และยกเว้นมาตรการ 3 : 1 ด้วย จึงตั้งคำถามว่าผู้เลี้ยงอยู่กันอย่างไร จากปกติเคยนำเข้าโดยเฉลี่ยปีละ 1-3 ล้านตัน แล้วสัตว์กินอะไรกันทำไมถึงอยู่ได้ เพราะฉะนั้นเป็นตัวชี้วัดว่ามาตรการข้างต้นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลย

“ธัญพืชนอก”ท่วมตลาด ทุบราคาข้าวโพดดิ่ง แนะรัฐช่วยไร่ละพัน

โดยเฉพาะในปี 2566 นี้ มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้กรอบอาฟต้า (จากเมียนมา ลาว กัมพูชา) จำนวน 1.33 ล้านตัน, ข้าวบาร์เลย์จากออสเตรเลีย เข้ามาแล้วประมาณ 6 แสนกว่าตัน บวกข้าวสาลีที่ได้นำเข้ามาอีก 1.76 ล้านตัน แล้วยังมียื่นแผนที่จะนำเข้าช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมอีกกว่า 2 แสนตัน รวมแล้ว 4.04 ล้านตัน เมื่อนำมารวมกับผลผลิตในประเทศ โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ ปี 2566/67 อยู่ที่ 4.892 ล้านตัน ทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์มีปริมาณรวม 8.93 ล้านตัน มากกว่าความต้องการใช้ของโรงงานอาหารสัตว์อยู่ที่ 8.37 ล้านตัน

 

ดังนั้นส่วนเกินกว่า 5 แสนตัน จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวโพดอาหารสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ ซึ่งปัจจุบันผลผลิตได้ทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น และจะกระจุกตัวไปจนถึงมกราคม 2567 อีกด้านจึงเป็นห่วงว่าโรงงานผลิตอาหารสัตว์จะมีโกดังหรือคลังเก็บไม่เพียงพอรองรับผลผลิต ทำให้อาจต้องหยุดรับซื้อ หรือซื้อในราคาที่ลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการค้าพืชไร่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดวงเงินสินเชื่อเพื่อดำเนินธุรกิจในการรวบรวมและรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร ทำให้ขาดสภาพคล่อง

“ธัญพืชนอก”ท่วมตลาด ทุบราคาข้าวโพดดิ่ง แนะรัฐช่วยไร่ละพัน

“ปัจจุบันราคาปัจจัยการผลิตทั้งปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช นํ้ามันยังทรงตัวสูง ถ้ารัฐไม่แทรกแซงกลไกตลาด เช่น ประกันรายได้ จำนำ หรือบีบให้โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดให้สูงขึ้นซึ่งเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เกษตรกรก็จะได้รับผลกระทบ ดังนั้นรัฐควรอุดหนุนปัจจัยการผลิตแบบเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ ให้ครอบคลุมทั้งสินค้าพืช ปศุสัตว์ และประมง จะดีกว่า”

 

“ธัญพืชนอก”ท่วมตลาด ทุบราคาข้าวโพดดิ่ง แนะรัฐช่วยไร่ละพัน

แหล่งข่าวจากวงการค้าพืชไร่ กล่าวว่า ราคาข้าวสาลีถึงท่าเรือกรุงเทพ ณ ปัจจุบันประมาณ 9.50 บาทต่อกก. บวกค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถึงหน้าโรงงาน อีก 30-60 สตางค์ ราคารวมจะอยู่ที่ 9.80-10.10 บาทต่อ กก. เมื่อพิจารณาจากตัวเลขย้อนหลัง พบว่าในปีนี้สถิติการนำเข้ารวมทั้งปีจะถึง 2 ล้านตัน สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2560

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,942 วันที่ 23-25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566