รอบปี 2566 ภาคเกษตรซึ่งเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศต้องเผชิญกับสถาน การณ์ความท้าทายหลายมิติ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกที่มีผลเชื่อมโยงกัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา การระบาดของโรคพืชและโรคสัตว์ ตลอดจนความเข้มงวดของกฎระเบียบทางการค้าของประเทศคู่ค้า สงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ยังยืดเยื้อ ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรของไทยต้องปรับตัวรับสถานการณ์
สำหรับในปี 2567 หรือปีมะโรง-งูใหญ่ ทิศทางและสถานการณ์สินค้าเกษตรที่เป็นไฮไลท์สำคัญของไทย ทั้งข้าว ยางพารา และปาล์มนํ้ามัน จะเป็นอย่างไรนั้น ฟังจากปากกูรู
ยางจ่อขาดตลาด ดันราคาพุ่ง
นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) และอุปนายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ปี 2567 จากปรากฎการณ์เอลนีโญที่คาดจะรุนแรง จะส่งผลให้ยางพาราขาดตลาด และอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ และช่วงที่ยางออกมาช่วงพีค (มาก) ก็อาจจะออกมาไม่มาก จากนี้ใกล้ถึงช่วงยางผลัดใบในฤดูแล้ง ผลผลิตก็จะลดลงเรื่อย ๆ อาจไม่เพียงพอที่จะส่งให้กับคู่ค้า มองในลักษณะนี้ราคายางต้องขึ้น
อย่างไรก็ดี ราคาจะปรับขึ้นมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของโลก บวกกับดอกเบี้ยยังไม่ปรับลด สงครามยังไม่เลิก ภาวะเศรษฐกิจจีนที่เป็นผู้ซื้อยางพารารายใหญ่จากไทยยังชะลอตัวจากภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยรวมภาพเศรษฐกิจจีน ยังไม่ได้เป็นแรงกระตุ้นที่จะทำให้เกิดความต้องการใช้ยางมากนัก แต่จากซัพพลายยางที่ลดลงจากเอลนีโญ จะทำให้เกิดความสมดุล กล่าวคือราคายางไม่ได้ปรับขึ้นมาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ราคาตกตํ่า ซึ่งก็มองว่าเป็นข่าวดีของเกษตรกรชาวสวนยาง
ห่วง“แล้งหนัก” ข้าวไม่พอส่งออก
ในสินค้า “ข้าว” นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวไทยในปี 2566 คาดจะอยู่ที่ 8.7-8.8 ล้านตัน ส่วนปีหน้าคาดจะปรับลดเป้าส่งออกลงมาอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน เนื่องจากผู้ซื้อ (คู่ค้า) มีกำลังซื้อแผ่วลง และเชื่อว่าอินเดียหลังมีการเลือกตั้งแล้วอาจจะกลับมาส่งออก(ข้าวขาว)ใหม่ เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย จะมีการเลือกตั้งในช่วงเวลาใกล้เคียงในเดือนมีนาคม หรือเมษายนนี้ มีการประเมินว่าหลังเลือกตั้งคาดว่าจะนำเข้าข้าวน้อยลง ส่วนอิรัก จากราคาข้าวแพง คาดมีความต้องการซื้อลดลง บวกกับปีนี้ผลผลิตข้าวของเกือบทุกประเทศดี ยังไม่ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญมากนัก
สำหรับปี 2567 ผลผลิตข้าวขึ้นอยู่กับดิน ฟ้า อากาศ ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเอลนีโญจะรุนแรงยาวนานแค่ไหน ฤดูฝนจะมาตามปกติหรือไม่ ซึ่งหากฝนยังมี ผลผลิตยังได้ตามปกติ การส่งออกจะไม่มีปัญหา แต่หากแล้งยาว ผลผลิตลดลงก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ปัจจัยต่อมาคือ ค่าเงินบาทที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออก เวลานี้สวิงมาก เฉพาะช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สวิงไป 2-3 % ทำให้การตั้งราคาข้าวส่งออกยุ่งยากมาก
“สิ่งสำคัญที่สุดชาวนาต้องการให้รัฐบาลหันมาดูแลพันธุ์ข้าว ทำอย่างไรให้ลดต้นทุนการผลิต และให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ใช้เวลาเพาะปลูกน้อยลง เป็นสิ่งที่เราต้องศึกษากันว่ากฎหมายต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยให้นำพันธุ์ข้าวคุณภาพดีจากต่างประเทศเข้ามาควรจะต้องแก้ไข และการขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าวก็ให้ง่ายขึ้น และพันธุ์ที่ออกมาจะต้องให้ได้ผลผลิต 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ ใกล้เคียงกับข้าวเวียดนาม เชื่อว่าหากกรมการข้าวทำได้ชาวนาจะเลิกปลูกพันธุ์ต่างประเทศไปโดยปริยาย” นายเจริญ กล่าว
ปาล์มสดใสระวังปัจจัยนอก
ส่วนสถานการณ์ “ปาล์ม” สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานว่า ราคานํ้ามันปาล์มดิบภายในประเทศเคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก ในปี 2567 คาดราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มของโลกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับคาดการณ์ว่าผลผลิตปาล์มในประเทศจะมีปริมาณลดลงจากสภาวะเอลนีโญ ส่งผลให้ราคานํ้ามันปาล์มในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดราคานํ้ามันปาล์มดิบอยู่ที่กิโลกรัมละ 31.70 บาท และราคาผลปาล์มสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 5.70 บาท
ปัจจัยด้านบวก มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย คาดจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้นํ้ามันปาล์มในภาคธุรกิจบริการ และภาคคมนาคม บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน คาดทำให้ภาคการผลิตและบริโภคของจีนสูงขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของอินเดีย ทำให้การบริโภคขยายตัว ซึ่งอาจส่งผลให้มีความต้องการ นํ้ามันปาล์มมากขึ้น
ที่สำคัญคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เห็นชอบการขยายระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยให้แก่นํ้ามันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 เพื่อจูงใจให้มีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่างต่อเนื่อง ส่งผลบวกทำให้มีการใช้นํ้ามันปาล์ม เพื่อผลิตไบโอดีเซลอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
ส่วนปัจจัยด้านลบ จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น รัสเชีย-ยูเครน อาจส่งผลต่อราคาปุ๋ยและราคานํ้ามันดิบ กระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่ง รวมทั้งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแจ้งเตือนปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ปริมาณฝนลดลงกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นปาล์มนํ้ามัน และส่งผลให้ปริมาณผลผลิตปาล์มนํ้ามันลดลง
นอกจากนี้ยังมีมาตรการ EU Deforestation Free Regulation กำหนดให้ระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ต้องไม่ได้มาจากการทำลายป่า รวมถึงมีระบบการติดตาม และตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งข้อบังคับนี้ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไปประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีต้นทุนในการบริหารจัดการมากขึ้น และกระทบต่อปริมาณการส่งออกและความสามารถในการส่งออกของไทย ทั้งนี้กฎระเบียบนี้อาจจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2567
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,953 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 - 3 มกราคม พ.ศ. 2567