"ไทยยูเนี่ยน" เปิดตัวนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เปลี่ยนโลก ลดใช้เหล็ก 400 ตันต่อปี

25 มิ.ย. 2567 | 04:35 น.
อัพเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2567 | 05:00 น.

“ไทยยูเนี่ยน” เปิดตัว ECOTWIST โซลูชันบรรจุภัณฑ์ของแบรนด์จอห์นเวสต์ ปฏิวัติวงการออกแบบ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ช่วยลดขยะบรรจุภัณฑ์ เปิดตัวที่อังกฤษเป็นแห่งแรก ชี้ช่วยลดการใช้เหล็กในการผลิตบรรจุภัณฑ์ได้มากกว่า 400 ตันต่อปี

รายงานข่าวจาก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลโลก เผยว่า ได้เปิดตัว ECOTWIST® ของแบรนด์จอห์น เวสต์ (John West) ซึ่งเป็นโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่ปฏิวัติวงการออกแบบ เพื่อให้ใช้งานง่าย ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และลดจำนวนขยะบรรจุภัณฑ์ให้มากที่สุด โดยจะเริ่มเปิดตัวที่สหราชอาณาจักรที่เป็นหนึ่งในตลาดหลักของไทยยูเนี่ยนเป็นแห่งแรก ซึ่งผู้บริโภคชาวอังกฤษสามารถหาซื้อ John West ECOTWIST® ได้ที่ร้าน Asda ทุกสาขา และจะมีวางจำหน่ายในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่อื่น ๆ ในเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกันกำลังอยู่ระหว่างพิจารณานำ ECOTWIST® ไปใช้ในประเทศอื่น ๆ ต่อไป

สำหรับ ECOTWIST®  คือ นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ล้ำสมัย และถือเป็นการเดินหน้าสร้างนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ครั้งใหญ่สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องของสหราชอาณาจักร ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดย ECOTWIST® เป็นอีกก้าวสำคัญของ John West ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทูน่าคุณภาพเยี่ยม ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จากช่วยลดปัญหาจากบรรจุภัณฑ์ส่วนเกินและช่วยลดขยะได้อย่างยั่งยืน 

นายพอล รีแนน ประธานกรรมการบริหาร ไทยยูเนี่ยน ภูมิภาคยุโรป กล่าวว่า แบรนด์ John West ใช้เวลากว่า 3 ปี ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืน จนประสบความสำเร็จออกมาเป็นนวัตกรรม ECOTWIST® ที่โดดเด่นไม่เหมือนใครในอุตสาหกรรม ช่วยให้การดำเนินชีวิตของผู้บริโภคสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยบรรจุลงในรูปแบบมัลติแพ็ค ที่ล้ำสมัย สะดวกต่อการใช้งาน การจัดเก็บ และนำไปรีไซเคิลได้ง่าย นอกจากนี้ การที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ของบริษัทในสหราชอาณาจักรได้ส่งผลให้สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของร้านค้าปลีกมากขึ้น สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและแบรนด์สินค้ารายอื่น ๆ

\"ไทยยูเนี่ยน\" เปิดตัวนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เปลี่ยนโลก ลดใช้เหล็ก 400 ตันต่อปี

ทั้งนี้ ECOTWIST® ที่ใช้นวัตกรรม SmartStrip® ในการนำกระป๋องมาวางต่อกันในแนวสูง ซึ่งอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร  มีจุดเด่นของนวัตกรรมดังนี้ 

  • กระป๋องดีไซน์ใหม่ น้ำหนักเบา : บรรจุทูน่าคุณภาพได้ในปริมาณเท่าเดิม แต่ใช้กระป๋องขนาดเล็กและเบากว่า ลดการใช้เหล็กเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ได้กว่า 400 ตันต่อปี
  • ลดการใช้วัตถุดิบส่วนประกอบ / ทรัพยากร : จากขนาดกระป๋องที่ลดลง ทำให้ปริมาณน้ำมันทานตะวัน น้ำแร่ หรือน้ำเกลือภายในกระป๋องลดน้อยลง ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่นิยมบริโภค สามารถลดการใช้ทรัพยากรได้ถึง 1,500 ตันต่อปี
  •  ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก shrink wrap ได้มากถึง 65 ตันต่อปี
  • ลดการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษ ได้ถึง 300 ตันต่อปี
  • รีไซเคิลง่าย : ผู้บริโภคสามารถนำกระป๋องเหล็กไปรีไซเคิลได้ง่าย โดยไม่ต้องแยก SmartStrip® ออกจากกระป๋อง

\"ไทยยูเนี่ยน\" เปิดตัวนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เปลี่ยนโลก ลดใช้เหล็ก 400 ตันต่อปี

นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  นวัตกรรม ECOTWIST® จะช่วยให้ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป สามารถบรรลุ 3 พันธกิจสำคัญภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์สินค้าของบริษัททั้งหมด จะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนภายในปี 2568 และการลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 42% ตลอดห่วงโซ่อุปทานภายในปี 2573 

การเปิดตัว ECOTWIST® ของแบรนด์ John West ในครั้งนี้ ยังเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจาก Marine Stewardship Council หรือ MSC ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจของไทยยูเนี่ยนที่ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องทั้งหมดได้การรับรองจาก MSC ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการประเมินของ MSC และเป็นโครงการพัฒนาการประมงปลาทูน่า (Fishery Improvement Project: FIP) เพื่อเข้าสู่การประเมินของ MSC ภายในปี 2568

“ผลิตภัณฑ์แบรนด์ John West จากนวัตกรรม ECOTWIST® ในกลุ่ม “No drain” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้การรับรองตามมาตรฐาน MSC เรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ กำหนดให้ผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรม ECOTWIST® ทั้งหมดต้องได้การรับรองตามมาตรฐาน MSC ภายในปี 2568  นอกจากนี้ John West ยังตั้งเป้าหมายที่จะให้ผลิตภัณฑ์ทูน่าทั้งหมดได้การรับรองมาตรฐาน MSC เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำแบรนด์อาหารทะเลแบบกระป๋องที่ยั่งยืนของสหราชอาณาจักร ปัจจุบัน John West เป็นแบรนด์ปลาทูน่ากระป๋องชั้นนำของสหราชอาณาจักร ที่มีผลิตภัณฑ์ที่ได้การรับรองจาก MSC มากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งในกลุ่ม Great Britain คือ อังกฤษ สก๊อตแลนด์ และเวลส์”