วิเคราะห์ผลกระทบภาวะโลกร้อนกับมิติธุรกิจ - การแข่งขันทางการค้าโลก

04 พ.ย. 2565 | 02:18 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2565 | 10:06 น.

หลักสูตร WOW จัดเสวนา หัวข้อ “Sustainability Development” ดึง "ดร.ธรณ์ - พิมพรรณ ผอ.ความยั่งยืน SET" แชร์ไอเดีย การขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อเดินหน้าธุรกิจแข่งขันทางการค้ากับตลาดโลก เผย greenhouse effect มากมาย สร้างค่าความเสียหายทางธุรกิจกว่า 1.9 ล้านล้านบาท

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในงานเสวนาหลักสูตร Wealth of wisdom หรือ WOW หัวข้อ “Sustainability Development” ที่จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ และ กรุงเทพธุรกิจ ว่า ปัญหาโลกร้อน มีแต่หนทางที่เจ๊งกะเจ๊ง หนึ่งปีหายนะโลก greenhouse effect มากมาย สร้างค่าความเสียหายทางธุรกิจกว่า 1.9 ล้านล้านบาท โลกกำลังอยู่ในภัยพิบัติ ที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เช่น คลื่นสูงที่ฟลอริดา นิคมอุตสาหกรรมจมไปเพราะฝนตกหนัก ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นโดยไม่สามารถคาดเดาได้ 

 

สิ่งที่ภาครัฐและเอกชนกำลังลุกขึ้นดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นแค่การประวิงเวลา และปัญหาใหญ่ที่ทำให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือปัญหาเรื่องน้ำ โดยดูได้จาก พายุต่อให้โดนเวียดนาม แต่ฝนก็มาตกหนักในประเทศไมย เราเป็นที่ที่น้ำมารวมกัน โดยที่ระบบบริหารจัดการน้ำที่ไทยมีอยู่ยังไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้ 

"ไทยกลายเป็นที่น้ำมารวมกัน เราจึงค่อนข้างเสี่ยง และระบบของเราไม่มีทางที่จะรับมือได้ เช่น กทม. รับฝนไม่เกิน 60 มิลลิเมตร หากเกิน ทำยังไงก็ท่วม รอการระบาย หากตกมา 70 มิลลิเมตรก็รอ ครึ่งชม. หาก 100 มิลลิเมตรก็รอ 3 ชม. เป็นเรื่องปกติที่เราเข้าใจได้"
     

โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) คือ นวัตกรรมที่น่าจะเข้ามาช่วยได้ แต่คงต้องรอในอีก 50 ปี ข้างหน้า ดังนั้น สิ่งที่กำลังทำในตอนนี้ไม่ได้ช่วยจบ แต่แค่ประวิงเวลาจนกว่า CCS จะนำมาใช้ได้อย่างแท้จริง 

 

ปัญหาโลกร้อน ต้องใช้ภาคธุรกิจในการแก้ปัญหา หากมองที่ธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน การดำเนินธุรกิจต้องแก้ที่ Mindset และหากพิจารณาต่อไปถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกับการค้าระหว่างประเทศ หากลองคิดภาพง่ายๆ ว่ายุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย แข่งกันมาตลอด ยุโรปเทคโนโลยีกับอเมริกาไม่ได้ ยุโรปก็หันมาที่เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเขาเน้นด้านนี้มายาวนาน การแข่งขันไม่ได้เกิดมาปีสองปี แต่มีมายาวนาน 30-40 ปี 

ยุโรปกังวล (concern) ด้านสิ่งแวดล้อมมานาน เขาพร้อมเพราะถูกปลูกฝังมา 30-40 ปี แต่ในภาคของการแข่งขันทางการค้า ยุโรปได้สร้าง Green Deal ขึ้นมา ทำให้เขาสามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้ กลายเป็นคาร์บอนเครดิต ทำให้บริษัทในเอเชียต้องพยายามลดการปล่อยคาร์บอน ส่วนหนึ่งของเงื่อนไขนี ก็คือ การสร้างกำแพงการแข่งขัน แต่ก็ส่งผลทางบวกด้านสิ่งแวดล้อม ตอนนี้ธุรกิจเริ่มเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมและเกิดการกีดกันทางการค้า โดยมีกรีนเป็นตัวตั้ง ซึ่ง ดร.ธรณ์มองว่า หากจะกู้ปัญหาตรงนี้ได้ ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) ต้องผ่านก่อน
    

สำหรับไทย สิ่งที่ต้องปรับและแนะนำให้ปรับคือ ปรับในสิ่งไทยสามารถสู้กับคนอื่นได้ เช่น อาหาร บริการ เกษตร เฮลท์ ที่ไปได้ดี ให้ปรับตัวทางนั้น อะไรเป็นจุดเด่นก็ปรับตัวทางนั้น ส่วนที่สู้เขาไม่ได้ แทนที่จะมานั่งปรับตัวในสิ่งที่สู้ไม่ได้ ก็ยอมรับและไปซื้อคาร์บอนเครดิตเขามา

 

"ความแปรปรวนปัจจุบัน ไม่ใช่แค่สภาพภูมิอากาศอย่างเดียว แต่สร้างให้เกิดการแปรปรวนทางธุรกิจและการลงทุนด้วย การบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด" ดร.ธรณ์กล่าว 

 

ด้านนางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ด้านความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า จากเป้าหมายของทั้งโลกที่ต้องควบคุมอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศา แต่ขณะนี้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมาที่ 1.2 องศาแล้ว ในไทยมีการศึกษาพบว่ามรสุมฤดูร้อนจะเกิดห่างขึ้น 20-40% แต่รุนแรงขึ้น 10% หมายความว่าเราจะแล้งนานขึ้น มีผลต่อแหล่งน้ำจืด ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงภาคเกษตร ความหลากลายทางชีวภาพ และกระทบถึงมิติทางสังคม 

 

"สังคมบ้านเราเปราะบาง ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ วันนี้เราอยู่ในสังคมสูงอายุ เรากำลังเข้าสู่ซูเปอร์เอจจิ้ง และอยู่ในยุคที่วัยแรงงานถูกกดดันเพราะต้องดูแลสูงวัย และเด็กรุ่นใหม่เกิดน้อยลง เด็กที่เกิดอาจจะอยู่ในครอบครัวที่ไม่พร้อมพัฒนาเลี้ยงลูก"

 

หากวิกฤตไม่มาชัดๆ แบบนี้ ไม่มีวิกฤตซ้อนวิกฤตเช่นนี้ หลายคนก็จะยังไม่ลุก ตอนนี้ผู้นำโลก ผู้นำทางเศรษฐกิจ ลุกขึ้นมาทำ เปลี่ยนกติกา ใครรู้กติกาใหม่ ฝึกตัวเอง มีสิทธิชนะ ไทยเองก็มีโอกาสมากมายในการชนะเกมนี้ เพราะกติกาใหม่ ไม่ใช่แค่เขียวขึ้น แต่ต้องเติบโตไปด้วยกัน เป็นกติกาที่ตลาดเงิน ตลาดทุน ผู้บริโภค ภาครัฐ ต้องการสิ่งนี้ และทุกคนเริ่มกลัว  

 

จาก COP26 ที่สร้างเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero ออกเป็นนโยบาย ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสถาบันลงทุนโดยเฉพาะในต่างประเทศ ขณะที่ไทย มีเป้าหมายเหมือนกับทุกคนและมีแผนชัดเจนออกมา จะเห็นว่า วาระแห่งชาติ BCG ก็มาในทิศทางที่ตรงกับทิศทางของโลก แต่ส่วนตัวคิดว่านโยบายทุกอย่างเคลื่อนมาให้ภาคธุรกิจเดินได้ หากแต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ที่ทุกคนต้องรีบและเร่งเรียนรู้ไปด้วยกัน     
    

ขณะนี้ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตื่นตัว มีการปรับนโยบาย รับลูกกับนโยบายของประเทศ หลายบริษัทหลายองค์กรลุกขึ้นมาเคยจัดการขยะ และสามารถปรับเปลี่ยนขยะมาสร้างมูลค่า สามารถกำจัดของเสีย และเปิดบิซิเนสยูนิตใหม่ๆ ขึ้นมา สร้างรายได้จากการกำจัดของเสีย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตื่นตัว บริษัทที่ทำดีอยู่แล้วมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องขณะนี้ 170 บริษัท และยังมีบริษัทใหม่ๆ ลุกขึ้นมาเขย่าโครงสร้างหลายบริษัท มีผู้บริหารหลายคนคุยกัน จากการทำในชายขอบ และเข้ามาใกล้มากขึ้น ตอบโจทย์ ESG มากขึ้น 

 

"บริษัทที่ไม่ใส่ใจเรื่อง ESG มีผลต่อราคาหุ้นในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ด้านต้นทุน มันคือการลงทุนสำหรับการเติบโตในระยะยาว กติกาเปลี่ยน หากยิ่งเปลี่ยนเร็ว ไปก่อน ทำได้ก่อน เราก็ได้ลูกค้า ได้ตลาด สักวันก็จะโดนบังคับ วันที่เขาบังคับจะเสียแพงกว่าตอนนี้แน่นอน" นางพิมพรรณ