ไทยในเวที COP27 พร้อมแค่ไหนกับเป้าหมาย "ปล่อยก๊าซเรือนกระจก" เป็นศูนย์

09 พ.ย. 2565 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2565 | 12:22 น.

ไทยในเวที COP27 ความท้าทายระหว่างประเทศครั้งสำคัญ ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร พร้อมแค่ไหนกับเป้าหมาย "ปล่อยก๊าซเรือนกระจก" เป็นศูนย์

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือ การประชุม COP 27 เวทีการประชุมปัญหาโลกร้อนที่ใหญ่ที่สุด ของโลก เริ่มขึ้นแล้ว ณ เมืองชาร์ม เอลชีค ประเทศอียิปต์  ประเด็นหลักๆ ของ COP 27 

 

เน้นการเร่งให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ยกระดับด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส โดยที่ประชุมจะพิจารณาแผนงานด้านเป้าหมายของโลกด้านการปรับตัวฯ เพื่อยกระดับและสนับสนุนการปรับตัวฯ ให้กับภาคี และประเด็นการสูญเสียและความเสียหาย 

 

โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้นำคณะผู้แทนไทยไปร่วมประชุม COP 27 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-18 พ.ย. 2565 ณ เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณัฐอาหรับอียิปต์

 

โดยจะเดินทางไปในวันที่ 10 พ.ย. นี้ ซึ่งจะกล่าวถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์และความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในวันที่ 15–16 พ.ย.2565

สำหรับไทยนั้น จะนำเสนอแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอน ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ในที่ประชุม COP 26 ปีที่ผ่านมา รวมถึงความก้าวหน้าในการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตภายใต้ข้อตกลง Paris Agreement ที่ไทยและสวิตเซอร์แลนด์เป็นคู่แรกที่สามารถทำได้ พร้อมเรียกร้องให้นานาอารยประเทศเร่งดำเนินการเรื่องนี้

 

ก่อนหน้านี้ กรีนพีซ ประเทศไทย องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อช่วงเดือนตุลาคมได้ ระบุถึง 4 ข้อกังวลเกี่ยวกับท่าทีของไทยในเวที COP27 ใน 4 ประเด็นด้วยกัน ดังนี้

  1. ขณะผลกกระทบโลกร้อนในไทยจะมากขนาดถูกจัดอันดับเป็น “ประเทศเสี่ยงสูงสุดอันดับ 9 โลก จากโลกร้อน” นโยบายชาติยังคงจำกัดอยู่แค่พยายามลดการปล่อยคาร์บอ
  2. ไม่พูดถึงประเด็นความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการเจรจาใน COP27 ที่ผลักดันโดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒน
  3. การขาดสมดุลและไม่ได้สัดส่วนทางนโยบายดังกล่าวในกรอบเจรจา ส่อเค้าพาไทยสู่ทิศฟอกเขียวในทางปฏิบัต
  4. กรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุม COP27 โน้มเอียงอย่างชัดเจนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมฟอสซิลและบรรษัทขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองทำการค้าขายคาร์บอนภายใต้แนวทางและกลไกความร่วมมือตามข้อ 6 ของความตกลงปารีส (Ariticle 6)

 

สิ่งที่ถูกตั้งคำถามและเป็นประเด็นที่น่าจับตามองก็คือ แผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยปี 2564-2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030: NDC) เดิมทีอยู่ที่ 20-25%  การขยับตัวเลขไปเป็น 40% นั่นหมายความว่าจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนเดิมที่ 555 ล้านตันให้เหลือ 333 ล้านตัน ถือเป็นความท้าทายมากพอสมควร 

 

เเละอีกประเด็นก็คือ Loss and Damage ความสูญเสียและความเสียหาย จากสภาพภูมิอากาศ Global Climate Risk Index 2021 ระบุว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว 146 ครั้ง สร้างความสูญเสียต่อชีวิต 0.21 ต่อประชากร 1 แสนคน และเกิดความเสียหาย 7,719.15 ล้านเหรียญสหรัฐ  หรือประมาณ 0.82% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

 

เเม้ว่าการเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วจ่ายเงินชดเชยนี้ เป็นหัวข้อที่ประเทศกำลังพัฒนาเสนอขึ้นมาตั้งแต่มีการประชุม COP ครั้งแรกเมื่อปี 1995 ก็ตาม 

 

ที่สำคัญคือ คณะเจรจาของไทยที่ COP27 จะมีท่าทีอย่างไร ต่อข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage Fund) รวมถึงการดำเนินการภายใต้ข้อ 8 ของความตกลงปารีส และข้อตกลงกลาสโกว์ 

 

อย่างไรก็ตาม การประชุม COP27 ที่สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (6-18 พฤศจิกายน 2565) ก็เป็นสิ่งที่สังคมต่างติดตามความเคลื่อนไหวของการประชุมเจรจาในเวทีโลก เพราะเป็นความท้าทายโดยเฉพาะวิกฤติโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมว่า ประเทศไทยจะเดินต่อไปอย่างไร ในขณะที่บนเวที COP 27 ซึ่งมีประเทศมหาอำนาจรวมอยู่ด้วย 

 

ความสำคัญ 

  • COP  ย่อมาจาก Conference of the Parties เป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา สหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

 

  • เพราะอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้เมื่อก่อนหน้านี้ การประชุม COP21 เมื่อปี 2015 ณ กรุงปารีส 196 ประเทศได้ตกลงที่จะร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้ สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้เกิดข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ขึ้น ภายใต้ข้อตกลงนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมุ่งมั่นที่จะสร้างการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions หรือ NDCs) ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการลด การปล่อยมลพิษระดับชาติ 

 

  • ทุกๆ 5 ปี ประเทศต่างๆ จะต้องกลับมาด้วยแผนการฉบับที่ปรับปรุงใหม่ (NDCs ล่าช้าไปหนึ่งปีเนื่องจากการระบาดของโควิด-19)

 

  • ไทยเป็นสมาชิกที่เข้าร่วมใน COP ตั้งแต่ปี 1992 

 

  • “ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ใน ค.ศ. 2065 และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศและกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ผมมั่นใจว่าประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ใน ค.ศ. 2030” นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเจตนารมณ์บนเวทีประชุมผู้นำ COP26 เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร