นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งกำหนดและแก้ไขมาตรฐานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับคอนกรีตและปูนซีเมนต์ โดยให้สามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีตต่างๆ แทนการใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์
ซึ่งการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ โดยมีการคิดค้นพัฒนาการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งมีส่วนประกอบของปูนเม็ดในอัตราส่วนที่น้อยกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประมาณ 10% ของปริมาณทั้งหมด
โดยใช้วัสดุอื่นมาผสมทดแทน เช่น หินปูน กากถลุง และปอซโซลาน เป็นต้น จากองค์ประกอบที่มีอัตราส่วนของปูนเม็ดน้อยลง จึงทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกนั้นมีคุณสมบัติและประสิทธิภาพในการนำไปใช้งานที่ดีเทียบเท่ากับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์
หากประมาณการเบื้องต้นในเชิงของการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 1 ตัน จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 0.05 ตัน (CO2) เมื่อเทียบกับการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในปริมาณที่เท่ากัน
ดังนั้น การนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้งานทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้
สำหรับในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม สมอ. ได้กำหนดและแก้ไขมาตรฐานให้สามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีตต่าง ๆ แล้วจำนวน 71 มาตรฐาน ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาโลกร้อน ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
"ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไข เพื่อบรรเทาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดแก่ประชากรโลก กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลภาคอุตสาหกรรม จึงได้กำหนดนโยบายเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนดังกล่าว"
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ. ได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594-2556 โดยระบุเกณฑ์กำหนดคุณลักษณะด้านต่าง ๆ
และมีการแบ่งชนิดครอบคลุมการใช้งานที่แตกต่างกัน ทั้งการใช้งานทั่วไป งานที่ต้องการแรงอัดต้นสูง งานที่ทนต่อการกัดกร่อนของซัลเฟต