ปัจจุบันทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือในการลด "ก๊าซเรือนกระจก" ให้ได้ตามเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการบรรลุุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคี อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26)
การดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของทางภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยบรรจุเอาไว้ยอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในแผนแม่บทด้านการเติบโตอย่างยั่งยืน ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของแผนในระยะ 5 ปีแรก ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ
ทั้งนี้ตามแผนการดำเนินงานทางการแก้ไขปัญหาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางการแก้ไขปัญหาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กำหนดค่าเป้าหมายที่ต้องบรรลุเอาไว้ในปี 2565 นั่นคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงอย่างน้อย 12% จากกรณีปกติ
สถานการณ์บรรลุเป้าหมายล่าสุด
พิจารณาจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน โดยประเทศไทยกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 7–20% จากกรณีปกติภายในปี 2563 ตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (NAMA) โดยเน้นใน 2 สาขาหลัก คือสาขาพลังงาน และการขนส่ง
จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พบว่า เมื่อพิจารณาภาพรวมในห้วง 5 ปีแรกตามยุทธศาสตร์ชาติ (ปี 2561 - 2565) ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 17.49% ซึ่งบรรลุค่าเป้าหมายที่วางไว้แล้วตั้งแต่ปี 2562
ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ประเทศไทยดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้เป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) โดยตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30 – 40% ภายในปี 2573 ใน 4 สาขา (สาขาพลังงาน สาขาคมนาคมขนส่ง สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสีย)
ดังนั้นจึงต้องอาศัยกลไกการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนการพัฒนาเทคโนโลยี รวมไปถึงมาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถต่าง ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
ความคืบหน้าการดำเนินงาน
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขับเคลื่อนผ่านโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ทั้งโครงการรายงานและติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกภาคอุตสาหกรรม โครงการการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ
รวมทั้งโครงการศึกษาและวิเคราะห์แนวทางของการรายงานข้อมูลผลการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อพัฒนาระบบรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนสำหรับการรายงานตามกรอบความโปร่งใสภายใต้ความตกลงปารีส และโครงการเสริมสร้างความตระหนักรู้และเสริมศักยภาพด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำรายงานแห่งชาติฉบับที่ 4 เพื่อรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการดำเนินงานของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้กรอบการดำเนินงานตาม NDC การจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว (ค.ศ. 2031 – 2050)
ดันพ.ร.บ.ไคลเมทเชนจ์
ทั้งนี้เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และผลักดันให้มีการออกประกาศใช้พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ.ไคลเมทเชนจ์ (Climate Change) เพื่อให้เกิดการบูรณาการและส่งเสริมความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทุกภาคส่วนในสังคม
โดยสร้างกลไกความร่วมมือตามกฎหมายระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนให้เกิดขึ้นเพื่อยกระดับและส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการปัญหาตามศักยภาพและความต้องการในระดับชุมชน พื้นที่ หรือสถานการณ์เฉพาะที่เกี่ยวข้อง และการดำเนินงานในโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปี 2565