การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดมีมติรับทราบรายงานสรุปผล การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (Conference of the parties: COP 27) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดเตรียมการดำเนินงานตามภารกิจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศด้าน "การลดก๊าซเรือนกระจก" และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามยุทธศาสตร์ระยะยาว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เช็คบทสรุป COP27
การประชุม "COP 27" จัดขึ้นระหว่างที่ 7-8 และวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2565 มีประมุขของรัฐ หัวหน้ารัฐบาล รัฐมนตรี หรือผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลเข้าร่วมจำนวน 164 ประเทศ มีการกล่าวถ้อยแถลง ซึ่งให้ความสำคัญกับการกำหนดแผนงานเพื่อการแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับเป้าหมายที่ประกาศไว้
ทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นย้ำว่าการสนับสนุนทางการเงินและการถ่ายทอดเทคโนโลยี จะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"
โดยประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศยืนยันที่จะเพิ่มการสนับสนุนการเงินด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกลุ่มประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กซึ่งได้รับผลกระทบทางลบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางต้องการผลักดันให้มีกลไกทางการเงินสำหรับการสูญเสียและความเสียหายเป็นการเฉพาะ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงแสดงจุดยืนของไทยในการมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ และการยกระดับเป้าหมาย NDC ค.ศ. 2030 เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ในทุกสาขา
ควบคู่กับการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม การดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงปารีส การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางสำคัญในการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน
รวมทั้งเน้นย้ำการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy Model) ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ และนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน
สิ่งที่ไทยต้องดำเนินการต่อจากนี้
1.จัดทำภาพรวมในการขับเคลื่อนตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065
หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
2. จัดทำ และปรับปรุงนโยบาย แผน มาตรการ และขับเคลื่อนการดำเนินงานในการลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามกรอบเวลาร่วมในการดำเนินงานตาม NDC
หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
3. ติดตามและเตรียมความพร้อมภายในประเทศเพื่อรองรับผลกระทบจากการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกต่อประเทศกำลังพัฒนา เช่น การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับในเรื่องสินค้าที่จะส่งออกไปขายต่างประเทศให้ได้รับการยอมรับมากขึ้นและไม่ให้ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าได้
หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงพาณิชย์ และ สศช.
4. จัดทำนโยบาย แผน มาตรการ และขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกลไกระหว่างประเทศวอร์ซอด้านการสูญเสียและความเสียหายที่เกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
5. พิจารณาแนวทางและขับเคลื่อนการขอรับการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ และ/หรือจัดสรรงบประมาณตามนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ
หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และธนาคารแห่งประเทศไทย
6. ขับเคลื่อนการปฏิบัติการเสริมพลังความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
7. เตรียมความพร้อมและจัดทำรายงานตามกรอบความโปร่งใสในการดำเนินงานและการสนับสนุน
หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
8. เตรียมการด้านนโยบายและกลไกภายในประเทศเพื่อรองรับแนวปฏิบัติและกฎการดำเนินงานตามความตกลงปารีส
หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และ กระทรวงพาณิชย์
9. การเผยแพร่ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หน่วยงานรับผิดชอบ : ทุกหน่วยงานที่มีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ