เปิดวิสัยทัศน์พรรคการเมือง เรื่อง ESG สิ่งแวดล้อม สู้ศึกเลือกตั้ง 2566

09 มี.ค. 2566 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2566 | 09:20 น.

ฟังวิสัยทัศน์พรรคการเมือง นโยบายการสร้างความยั่งยืน เรื่องเทรนด์ ESG สิ่งแวดล้อม สังคมเศรษฐกิจสีเขียว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู้ศึกเลือกตั้ง 2566

วันนี้ (9 มีนาคม) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงานสัมมนา THE NEXT THAILAND'S FUTURE : จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ได้มีการเชิญตัวแทนของพรรคการเมืองมาร่วมแสดงแสดงวิสัยทัศน์สู่สนามเลือกตั้ง 2566 ภายใต้ประเด็นจุดเปลี่ยนประทศไทยสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องของการนำ ESG (การดูแลสิ่งแวดล้อม การรับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี) มาใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้า รวมไปถึงมาตรการด้านคาร์บอนระหว่างประเทศ

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันความเสี่ยงที่มาเคาะประตูหน้าบ้านคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องผลกระทบเท่านั้น แต่จะกลายเป็นการกีดกันทางการค้า โดยการตั้งกำแพงทางภาษี หรือเรื่องคาร์บอนเครดิตต่าง ๆ 

ทั้งนี้ภาครัฐเอง นอกจากจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในเวทีระดับนานาชาติในเรื่องสิ่งแวดล้อมเอาไว้แล้วคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 อีกส่วนหนึ่งยังต้องช่วยเหลือธุรกิจภายในประเทศสามารถปรับตัวให้ทันกับเรื่องนี้มากขึ้น 

อย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกลเองมีการจัดทำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ผ่านนโยบายการกำหนดเพดานปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม เปิดตลาดค้าขายแลกเปลี่ยน หรือ Cap & Trade ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สามารถซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตได้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังต้องการผลักดันเรื่องของการเงินสีเขียว หรือ Green Finance ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก โดยการปล่อยกู้ดอกเบี้ย 0% ให้ภาคธุรกิจที่ต้องการปรับปรุงธุรกิจตัวเองเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยจูงใจให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีปรับตัวได้มากขึ้น 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ กรรมการยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและการเมือง พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า ตอนนี้เป็นห่วงภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องตกอยู่ในกติกา ESG ซึ่งจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับกติกาต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป โดยภาครัฐเองต้องมีแนวทางการส่งเสริมพลังงานสีเขียว เริ่มต้นจากภาคเกษตร ต้องเปลี่ยนจากการเผาวัสดุเหลือทิ้งมาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยมีแรงจูงใจของรัฐให้กับเอสเอ็มอีเข้าร่วมได้ด้วย 

อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถผลักดันออกมาได้มากขึ้นนั่นคือ การมีแหล่งเงินทุนสีเขียวผ่านการระดมทุนพันธบัตรสีเขียว เพื่อจูงใจให้เข้ามาสู่ทิศทางและระบบ ESG ในอนาคต

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย เห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีอันดับเกี่ยวกับ ESG ไม่ดีทั้งหมด ดังนั้นในแนวทางการแก้ไขต้องทำงานอย่างสอดประสานกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อม และการบุกรุกป่าของเกษตรกร

ดังนั้นถ้าไม่สามารถคิดให้เข้าที่เข้าทางหรือเข้าระบบได้ พื้นที่ป่าจะหายไปเรื่อย ๆ แต่ถ้ามีระบบคิดและมีทัศนคติร่วมกันระหว่างรัฐและประชาชนจะเกิดประโยชน์ขึ้นมาโดยที่ไม่เป็นการบุกรุกป่าจนส่งผลกระทบต่อปัญหาโลกร้อน และ PM 2.5 ด้วย