การตัดไม้ทำลายป่าในป่าแอมะซอนที่ได้ชื่อว่า “ปอดของโลก” ของบราซิลเพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์เป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เผยให้เห็นถึงระดับความท้าทายที่รัฐบาลของ ประธานาธิบปี ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ต้องเผชิญเป็นอย่างมาก ในการจัดการกับการตัดไม้ทำลายป่าหลังลุกลามอย่างหนักในสมัย อดีตประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนาโร
ดาวเทียมของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าป่าแอมะซอนทำลายสถิติพื้นที่ 322 ตร.กม. ในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 62% จากปีที่แล้ว และเป็นตัวเลขสูงสุดในเดือนนั้นนับตั้งแต่เริ่มบันทึก ขณะที่ระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา การตัดไม้ทำลายป่าโดยเฉลี่ยต่อปีในป่าแอมะซอนของบราซิลเพิ่มขึ้น 75 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนหน้า
โดยทั่วไปตัวเลขการตัดไม้ทำลายป่าจะลดลงในช่วงต้นปี เนื่องจากฤดูฝนของแอมะซอนขัดขวางการถางป่าและเมฆปกคลุม หมายความว่าดาวเทียมมีโอกาสน้อยที่จะตรวจจับได้ นักวิเคราะห์จึงเตือนไม่ให้เฉลิมฉลองการตัดไม้ทำลายป่าที่ลดลงในเดือนมกราคม
ปัญหานี้เป็นปัญหาที่นานาชาติกังวล เนื่องจากต้นไม้ดูดซับคาร์บอนหลายแสนล้านต้นในแอมะซอนเป็นกันชนสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
ในเดือนพฤศจิกายน ลูลาปรากฏตัวอย่างโดดเด่นในการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ COP27 ของสหประชาชาติที่อียิปต์ โดยให้คำมั่นเเละย้ำจุดยืนของบราซิลในฐานะผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม และจะลดการตัดไม้ทำลายป่าของแอมะซอนให้เหลือศูนย์
ลูลาดำเนินการตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อจัดการกับการทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของบราซิลขึ้นใหม่ การเปิดตัวแผนปฏิบัติการระดับชาติ และโน้มน้าวใจผู้บริจาคจากนานาชาติใน “กองทุนแอมะซอน” รวมเงินกว่า 580 ล้านดอลลาร์สำหรับปฏิบัติการต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า
หากยังจำกันได้ เมื่อปี 2562 แอมะซอน ป่าฝนเขตร้อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เผชิญไฟป่าครั้งใหญ่ จนสามารถมองเห็นกลุ่มควันได้จากภาพถ่ายดาวเทียมนอกโลก ต้นเหตุของไฟป่ามักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง แต่ก็มีบ่อยครั้งที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ที่จุดไฟเผาป่าให้หญ้าระบัดใบเพื่อนำปศุสัตว์มาเลี้ยง
ป่าแอมะซอน “ปอดของโลก”
ป่าฝนแอมะซอนอยู่ใน “ลุ่มน้ำแอมะซอน” ขนาดถึง 7.4 ล้าน ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่กว่า 40% ของละตินอเมริกา กระจายไปใน 9 ประเทศ คือ โบลิเวีย โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เฟรนช์เกียนา กายอานา เปรู ซูรินาเม เวเนซุเอลา โดย 60% อยู่ในบราซิล พื้นที่ป่าฝนกว้าง 5.5 ล้าน ตร.กม. หรือเกือบครึ่งหนึ่งของทวีปยุโรป เป็นที่อยู่ของชนเผ่า 420 เผ่า
เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งมีชีวิตทั้งหมดในโลก 1 ใน 4 สายพันธุ์ สามารถพบเห็นได้ที่ผืนป่าแห่งนี้ เป็นเหมือนปอดของโลก ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศโลกถึง 1,500-2,000 ล้านตันต่อปี
ป่าแอมะซอน “ปอดของโลก” ในวันที่ถูกคุกคาม
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) พื้นที่ป่าแอมะซอนหายไปเกือบ 20% ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา และอัตราการทำลายป่าก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ในปัจจุบัน ทุก ๆ 1 นาที ป่าแอมะซอนถูกทำลายเป็นบริเวณกว้างเท่ากับสนามฟุตบอล 3 สนาม
ข้อมูล : aljazeera , theguardian