ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจาก "ภาวะโลกร้อน" ส่งผลให้ "วิกฤตผู้ลี้ภัย" ก่อตัวขึ้น ข้อมูลจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ประเมินว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เชื่อมโยงกับปัญหาโลกร้อนจะส่งผลให้ผู้คนหลายสิบล้านคนทั่วโลกต้องอพยพย้ายถิ่นฐานในแต่ละปี โดยคาดการณ์ว่าผู้ลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะมีจำนวนสูงถึง 200 ล้านคนภายในปี 2050
ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ "วีซ่าสภาพภูมิอากาศ" เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มนักคิดเสนอให้สหราชอาณาจักรออกวีซ่าสำหรับผู้ที่หลบหนีภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลควรจัดหาเส้นทางที่ปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมายสำหรับพวกเขาให้ไปยังสหราชอาณาจักร เพื่อลดผลกระทบของการอพยพที่เกี่ยวข้องต่อความมั่นคงบริเวณชายแดน
"การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศคาดว่าจะทำให้ผู้คนหลายร้อยล้านคนต้องพลัดถิ่นในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยบางส่วนมีแนวโน้มที่จะลี้ภัยในสหราชอาณาจักร รวมถึงเส้นทางที่ผิดกฎหมาย"
แม้ว่ารัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยจะใช้ถ้อยคำที่แข็งกร้าวในกฎหมายว่าด้วยการย้ายถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมาย แต่กลุ่มนักคิดก็ยังมีมุมมองเเละแนะนำว่าการเปิดรับ "ผู้ลี้ภัยจากสภาพอากาศ" ในจำนวนจำกัดนั้นสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาล
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รายงานว่า ในแต่ละปีมีผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นเฉลี่ย 21.5 ล้านคน จากเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันระหว่างปี 2551-2559 เเละเมื่อเร็วๆ นี้ สหราชอาณาจักรยอมรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนและชาวฮ่องกงหลายพันคนผ่านเส้นทางวีซ่าที่จัดทำขึ้นเอง
รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้มีการแนะนำโครงการวีซ่าภัยพิบัติทางธรรมชาติ เนื่องจากน้ำท่วมใหญ่และภัยแล้งเริ่มแพร่หลายมากขึ้นผลมาจากภาวะโลกร้อน กลุ่มนักคิดแนะนำว่าเส้นทางดังกล่าวอาจช่วยให้ผู้คนจำนวนจำกัดที่ต้องพลัดถิ่นจากสภาพอากาศสามารถหลบหนีมายังสหราชอาณาจักรได้ ผู้ลี้ภัยเหล่านี้อาจได้รับอนุญาตให้อยู่ในสหราชอาณาจักรชั่วคราว เพื่อหารายได้เพื่อสร้างชีวิตใหม่ หรืออาจอยู่อย่างถาวรก็ได้ รวมทั้งสนับสนุนทุนในการฝึกอบรมทักษะต่างๆ เเละอาจอนุญาตให้ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมบางส่วนภายใต้โครงการนี้เข้ามาทำงานในสหราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เบื้องตัน ยังไม่มีการระบุจำนวนวีซ่าที่สามารถออกได้
อเล็กซ์ แชปแมน นักวิจัยอาวุโสของ New Economics Foundation (NEF) เห็นพ้องกันว่าสหราชอาณาจักรมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมในการสนับสนุนผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศ แต่เขาก็มองว่าการนำแรงงานจากประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องในการอุดช่องว่างเเละเติมเต็มให้สหราชอาณาจักรเอง บรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศปลอดคาร์บอน รายงานของ NEF ระบุว่าจำเป็นต้องมีการฝึกอบแรงงานของสหราชอาณาจักรไปถึงระดับที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ข้อมูล : theguardian