รัชฎา อนันตวราศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสภาคสถาบันการเงิน ธนาคารโลก กล่าวเปิดประเด็น Go Green: Global Overview ในงานสัมมนา Go Green 2023 Business Goal to the Next Era จัดโดยหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ ระบุว่า เรื่องของ สิ่งแวดล้อม นั้นเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายของไทยสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท การป้องกันก่อนที่จะเกิดความสูญเสียจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ไทยและประเทศอื่นๆรวม 197 ประเทศ ต้องเข้าร่วมความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งกำหนดมาตรการ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลอย่างมากต่อการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ
ในส่วนของธนาคารโลกนั้น เห็นถึงความจำเป็นในการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการดำเนินการในองค์กรและกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว และเพื่อให้สินค้า-บริการของไทยเป็นไปตามมาตรฐานที่โลกกำลังเปลี่ยนไป แนวโน้มในอนาคต ธนาคารจะปล่อยเงินกู้ให้ความสนับสนุนโครงการด้านนี้มากขึ้น และผู้ประกอบการเองก็สามารถออกพันธบัตร หรือตราสารการเงินเพื่อความยั่งยืน เช่น พันธบัตรเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล นำหลักความยั่งยืนมาใช้ในการลงทุน แล้วก็จะได้รับความสนับสนุน หรือการออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์น้ำ อนุรักษ์ป่า (Green Bond) ตอบโจทย์ความต้องการลงทุนที่มีจำนวนมาก
บทบาทการเงินเพื่อความยั่งยืน
“การเงินเพื่อความยั่งยืน เราต้องมองระยะยาวเป็นหลัก ต้องให้ภาคเอกชนไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่สามารถเข้าถึงได้ ประเทศในแถบสหภาพยุโรปมีระบบที่เรียกว่า Taxonomy เป็นมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ภาคการเงิน ภาครัฐ และภาคเอกชนนำ Taxonomy ไปใช้อ้างอิงในกระบวนการทำงานและดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างมีการออก Blue Bond หรือตราสารหนี้สีฟ้า ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อนำมาใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล เป็นต้น ไทยเองก็มีการนำแนวคิดนี้มาใช้กับภาคพลังงานและภาคการขนส่ง
“ปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือเรื่องของเทคโนโลยี ผู้ประกอบการไม่สามารถเลี่ยงเรื่องของเทคโนโลยีและดิจิทัลที่ต้องนำมาใช้ ต้องมีการวางแผนในเรื่องนี้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย” เวิลด์แบงก์ในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินมองว่า ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
“ภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน ในอนาคตเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจะมีการนำความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมมาประเมินด้วย”
5 ความท้าทายของ CEO
ในเวทีเดียวกันนี้ ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการ UN Global Compact Network Thailand กล่าวว่า อยากให้ผู้ประกอบการมองมุมใหม่ การเปลี่ยนแปลงนั้นนั้นเริ่มจากการมีแนวคิดที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้นว่า ทิศทางหลังจากนี้ ไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประเทศที่คาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero)ได้อย่างไร สิ่งที่จะช่วยให้เป็นไปได้หรือทำได้คือ ความจริงใจ และต้องเชื่อว่าทำได้ เริ่มต้นให้ถูก เช่นบางทีการแก้ปัญหาขยะล้นโลกและเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน อาจต้องเริ่มที่ reduce หรือลดการสร้างขยะตั้งแต่ต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การรีไซเคิล (Recycle) อาจไม่ใช่คำตอบ เพราะจะทำให้เกิดการผลิตเพิ่มมากขึ้น
“เราต้องจริงใจในการแก้ไขปัญหา องค์กรที่ go green จริงๆ จะได้รับการสนับสนุน 93% ของซีอีโอองค์กรธุรกิจทั่วโลกตระหนักดีว่ามีความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ 5 ประการด้วยกันที่ถือเป็นความท้าทายสูงสุด ได้แก่ เงินเฟ้อและความผันผวนของราคา บุคลากรขาดความรู้และทักษะที่จำเป็น ภัยคุกคามที่มีผลต่อสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และข้อกำหนดและกฎระเบียบทางการค้า” ทำให้ต้องเรียนรู้ แสวงหาข้อมูล และปรับตัวให้ทัน
ข่าวดีก็คือรัฐบาล นักลงทุน และธนาคารกำลังขับเคลื่อนให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ องค์กรและตำแหน่งงานที่ยืนและมีแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง จะได้รับการสนับสนุน-ส่งเสริม ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย เมื่อพัฒนาคุณค่าของตัวสินค้าและบริการไปสู่ความยั่งยืน ก็จะเป็นจุดขายที่ดึงดูดใจลูกค้า “แต่เราต้องเชื่อและทำอย่างนั้นจริงๆ เช่นถ้าเราบอกว่าเราเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะเราใช้รถยนต์ไฟฟ้า เราก็ต้องรู้ว่าเมื่อเสียบปลั๊ก ไฟฟ้าของเรามาจากไหน มาจากพลังงานลมพลังงานน้ำ หรือมาจากถ่านหิน”
การเป็นองค์กรโลว์คาร์บอน หรือประเทศโลว์คาร์บอน ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่มาโดยโชคช่วยหรือโดยบังเอิญ (By Chance) แต่มาจากการเลือกที่จะให้เป็นเช่นนั้น หรือเลือกที่จะลงมือทำเพื่อให้ได้เป็นตามเป้าหมาย หรือ By Choice ของเราเอง