สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) หรือ ไออีเอ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุด( เผยแพร่เมื่อ 2 มี.ค.) ว่า ในปีที่ผ่านมา ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั่วโลกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อนับย้อนเปรียบเทียบรายปีไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1900 (พ.ศ. 2443) เป็นต้นมา
โดยปี 2565 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 0.9% เป็นปริมาณรวม 36.8 กิกะตัน เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มขึ้นมากหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงในหลายพื้นที่ทั่วโลก นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการที่หลายประเทศหันไปใช้พลังงานถ่านหินมากขึ้นในฐานะเชื้อเพลิงราคาถูก
ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การนาซ่า (NASA) เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณ 1 กิกะตันนั้น เทียบเท่าการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ใช้เติมเต็มถังเครื่องบินพาณิชย์จำนวนรวมประมาณ 10,000 ลำ
การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินล้วนแต่เป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ และก๊าซนี้ยังผลิตขึ้นโดยสิ่งมีชีวิตบนโลกและพืชที่ใช้มันในการเจริญเติบโตอีกด้วย
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ดักจับความร้อนและทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจทำให้เกิดสภาพอากาศเลวร้าย เช่น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลและทำให้เกิดพายุมากมาย แต่ในทางกลับกัน สภาพอากาศที่รุนแรงก็มีส่วนซ้ำเติมทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้นในปีที่แล้วเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น สภาพอากาศร้อนและ ภาวะภัยแล้ง ทำให้ ปริมาณน้ำ ที่จะใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (hydropower plant) ลดน้อยลงจนไม่เพียงพอสำหรับการผลิต และทำให้มีความจำเป็นต้องหันกลับไปพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้น นอกจากนี้ คลื่นความร้อน หรือ heat waved ที่พาดผ่านหลายประเทศในยุโรปและอเมริกา ก็มีส่วนทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นด้วย
ทั่วโลกจำเป็นเร่งมือต้องช่วยกัน
นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศมีความกังวลเกี่ยวกับรายงานของไออีเอ และกล่าวว่า ผู้คนทั่วโลกจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อช่วยให้อุณหภูมิของโลกลดลงได้แล้ว
นายร็อบ แจ็คสัน ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ระบบโลกที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าวว่า การปล่อยมลพิษใด ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นแม้เพียง 1% ก็ถือว่าเป็นความล้มเหลวแล้ว และแม้แต่การรักษาระดับการปล่อยมลพิษไว้ในระดับเดิมปีต่อปีก็ยังถือเป็นปัญหาด้วย
“ปีไหนก็ตามที่มีการปล่อยมลพิษจากถ่านหินที่สูงขึ้น ถือเป็นปีที่เลวร้ายต่อสุขภาพของมนุษย์และต่อโลก”นักวิทยาศาสตร์จากสแตนฟอร์ดกล่าว
ข้อมูลจากไออีเอชี้ว่า การใช้พลังงานจากถ่านหินเพิ่มขึ้น 1.6% ในปี 2565 ทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นด้วย โดยหลายประเทศในเอเชียได้เปลี่ยนจากการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้ามาเป็นการใช้ถ่านหิน เนื่องจากราคาก๊าซถีบตัวสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากมาตรการหยุดซื้อก๊าซจากรัสเซียตามบทลงโทษ (มาตรการคว่ำบาตร)ที่ประเทศตะวันตกนำโดยสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) นำมาใช้กับรัสเซียที่เปิดศึกรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565
นอกจากนี้ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิงด้านการขนส่งได้พุ่งทะยานขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากหลังโควิดคลี่คลาย การเดินทางทางอากาศก็กลับมาเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก การเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 2.5% ในปี 2565 และในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งมาจากภาคการขนส่งทางอากาศ
สถิติชี้ว่า นับตั้งแต่ปี 1900 (พ.ศ. 2443) เป็นต้นมา การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีเพิ่มขึ้นทุกปีเป็นส่วนใหญ่ จะมียกเว้นก็ในปี 2564 ที่มีการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไปทั่วโลก ทำให้การเดินทางทั่วโลกแทบจะหยุดนิ่ง
ความหวังยังมี และนี่คือคำตอบ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซดังกล่าวยังถือต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งมาจากหลายเหตุปัจจัยประกอบกัน ที่สำคัญคือ โลกมีการใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) เพิ่มขึ้น มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์อีวี (electric vehicles: EVs) มากขึ้น การใช้ระบบทำความร้อนแบบใหม่ ตลอดจนมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมโควิดที่เข้มงวดและอุปสงค์การใช้พลังงานที่ลดลงในจีนเนื่องจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง ทั้งหมดนี้ล้วนช่วยให้โลกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 550 เมกะตันในปีที่ผ่านมา
อีไอเอยังระบุว่า พัฒนาการของพลังงานหมุนเวียนในยุโรป ก็มีส่วนช่วยในเรื่องนี้อยู่มาก เพราะปี 2565 นับเป็นปีแรกที่ประเทศในยุโรปสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ได้มากกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติและพลังงานนิวเคลียร์
นายฟาที บีโรล ผู้อำนวยการบริหารของอีไอเอ ให้ความเห็นว่า "หากไม่มีพลังงานสะอาดเหล่านี้ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็คงจะสูงขึ้นเกือบสามเท่า"
อย่างไรก็ตาม เขามองว่า การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในปัจจุบันยังคงสูงเกินไปทำให้ยังคงมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น บริษัทน้ำมันและเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหลายซึ่งต่างทำเงินรายได้เป็นจำนวนมหาศาล ก็ควรมีความรับผิดชอบและร่วมกันทำตามพันธกิจที่จะต้องบรรลุเป้าหมายเกี่ยวกับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสภาพอากาศของโลก
นายจอห์น สเตอร์แมน หัวหน้าโครงการ Sloan Sustainability Initiative ที่มหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology กล่าวว่า โลกยังมีความหวังและยังคงมีความเป็นไปได้ที่นานาประเทศจะบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศที่ว่านี้ โดยเขาให้คำแนะนำว่า รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องให้การอุดหนุนอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ต้องพัฒนาระบบขนส่งที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้า(แทนเชื้อเพลิงฟอสซิล) ต้องเก็บภาษีหรือเก็บเงินการปล่อยคาร์บอน และยุติการตัดไม้ทำลายป่า ต้องปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น และยุติการใช้ถ่านหิน เป็นต้น
“ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นเรื่องใหญ่มากๆ ที่ต้องทำกันเป็นวงกว้าง ต้องช่วยกันทำให้มากๆ แต่มันก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงมือทำ”
ข้อมูลอ้างอิง