นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า บีโอไอได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกิจการยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมมุ่งเป้าตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ของไทย
ทั้งนี้ ได้มีมาตรการให้สิทธิประโยชน์กับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้า และเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนและอุปกรณ์ สถานีอัดประจุไฟฟ้าและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่
ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดนั้น บีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ และสถานีชาร์จ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 114,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมแล้ว แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
นอกจากนี้ บีโอไอยังได้ให้การส่งเสริมโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับ EV อีกหลายโครงการ เช่น ซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงานของระบบในรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งติดตั้งใน Vehicle Control Unit (VCU) แพลตฟอร์มควบคุมและบริหารจัดการการเดินรถ (Fleet Management) แอปพลิเคชันสำหรับค้นหา จอง ชำระค่าบริการและบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น
“อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว จากมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะรถยนต์ BEV เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า ยอดจดทะเบียนรถยนต์ BEV ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้สูงถึงกว่า 11,000 คัน เพิ่มขึ้น 8 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รวมถึงยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าในงานมอเตอร์โชว์ครั้งล่าสุดที่มากกว่า 9,000 คัน
ขณะที่มีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ได้ทยอยเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย ทั้งผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น MG, Great Wall Motor, BYD, NETA, Foxconn รวมทั้งรายล่าสุดอย่าง GAC AION จากประเทศจีนที่ได้หารือกับบีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศไทยด้วย
นายนฤตม์ กล่าวต่อไปอีกว่า การดำเนินการของบีโอไอดังกล่าวเป็นไปตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และได้กำหนดเป้าหมายที่ท้าทาย 30@30 ว่าภายในปี ค.ศ.2030 หรือปี พ.ศ.2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ หรือ 725,000 คัน จากทั้งหมดประมาณ 2.5 ล้านคัน
โดยได้ออกมาตรการส่งเสริมแบบครบวงจร ครอบคลุมทั้งมาตรการส่งเสริมผู้ลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และมาตรการสร้างตลาดในประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังให้เงินอุดหนุน ลดอากรนำเข้า และลดภาษีสรรพสามิต เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า นโยบายดังกล่าวเริ่มเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในด้านการลงทุนและความสนใจของผู้บริโภคในประเทศ